เงินเฟ้อ พ.ค.ปี’61 ปรับเพิ่มขึ้น 1.49% ผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

เงินเฟ้อ พฤษภาคม 2561 ปรับเพิ่มขึ้น 1.49% ผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น คาดในระยะต่อไปยังมีผลต่อเงินเฟ้อปรับขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.7-1.7%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงสถานการณ์ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 เท่ากับ 102.14 สูงขึ้น 1.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 16 เดือน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราสูงสุดในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้ ส่งผลให้ 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2561) เงินเฟ้อ สูงขึ้น 0.89% อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 0.7-1.7% และยังไม่มีการปรับเป้าหมายในขณะนี้

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากราคากลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 7.68% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 จากการปรับลดกำลังการผลิตส่งผลให้อุปทานน้ำมันลดลง ขณะที่ หมวดอาหารสด สูงขึ้น 0.24% โดยเฉพาะราคาผักสด ที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น กะหล่ำปี แตงกวา ผักชี ถั่วฝักยาว มะนาว เป็นต้น รวมไปถึงการปรับขึ้นของหมวดอาหารสำเร็จรูป หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ในขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่หมวดผลไม้สด หมวดเนื้อสัตว์ และหมวดเครื่องประกอบอาหาร

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2561 สินค้า 422 รายการที่ติดตาม ราคาสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมี 72 รายการ และราคาสินค้าที่ปรับลดลง 119 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไขไก่ ไก่สด น้ำมันพืช ผักคะน้า สัมเขียวหวาน สบู่ถูตัว น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ครีมนวดผม ผ้าอนามัย เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 231 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ถั่วฝักยาว มะนาว อาหารสำเร็จรูป ทุเรียน กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม น้ำปลา น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า บุหรี่

อย่างไรก็ดี สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้นเป็นผลจากปัจจัยเรื่องของราคาพลังงาน และการปรับตัวสินค้าเกษตรบางชนิด แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคเอกชนยังอยู่ในระดับดี ประกอบกับการจ้างงาน การจัดเก็บ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เอื้อต่อการบริโภค ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มในระยะต่อไปน่าจะค่อยๆปรับขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคคาดการณ์ว่าราคาสินค้า การบริการ จะปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน รับว่าราคาพลังงานเป็นปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่เชื่อว่าจะทรงตัวไม่สูงกว่านี้ เพราะรัฐบาลได้เข้ามาดูแล ขณะที่ สมมุติฐานที่มีผลต่อเงินเฟ้อไทย เศรษฐกิจขยายตัว 3.6-4.6% ราคาน้ำมัน 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ