บีโอไอ เตรียมปรับเงื่อนไข Local Content อุตสาหกรรม EV

BOI
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

จับตาประชุมบอร์ดบีโอไอ 1 พ.ย. 2567 อนุมัติโครงการใหญ่ ถกมาตรการกระตุ้นลงทุนโค้งสุดท้าย เตรียมประชุมบอร์ด EV ต่อ จ่อปรับเงื่อนไขลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ใช้ Local Content ให้ได้มากที่สุดหรือเกิน 40% เตรียมมาตรการลดผลกระทบจาก OECD ให้ลิทธิเลือกทั้งลดหย่อนภาษี 2 เท่า ใช้เงินกองทุนจาก พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถฯ หลังได้งบเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท ปี 2567 คาดยอดขอรับการส่งเสริมทะลุ 900,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) โดยจะมีการเสนอหลายวาระ  ทั้งการพิจารณาอนุมัติการลงทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ การหารือเตรียมออกมาตรการในช่วงสุดท้ายของปี 2567 ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะการผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป (ICE) ที่จะนำไปหารือในการประชุมบอร์ด EV

ซึ่งในประชุมบอร์ด EV อาจมีการหารือถึงการปรับเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันการใช้ Local Content ตามเงื่อนไขของบีโอไอได้กำหนดไว้ที่ 40% แต่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ Local Content อยู่ที่ 45-55% เกินกว่าที่กำหนดไปแล้ว และในบางอุตสาหกรรมสามารถใช้ Local Content สูงถึง 80%

ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุน และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพรายเชนในประเทศ อาจจำเป็นที่ต้องเพิ่มสัดส่วน Local Content ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างบุคลากรคนไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนของแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับรถ EV เพิ่มเติม มาตรการช่วยผู้ประกอบการชิ้นส่วนภายในประเทศในส่วนของรถยนต์สันดาป (ICE) และการพิจารณาเพื่อขยายระยะเวลาการผลิตรถ EV เพื่อชดเชยการนำเข้าแบบสำเร็จรูป ตามมาตรการ EV 3.0 ซึ่งอยู่ที่ 1:1 คัน เนื่องจากตามเงื่อนไขของการลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิตรถ EV ในประเทศได้กำหนดให้ช่วงแรกสามารถนำเข้ารถ EV สำเร็จรูปได้ แต่จะต้องผลิตชดเชยในปี 2567 ซึ่งตลาดรถยนต์กลับพบว่าติดลบต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มติดลบไปจนถึงสิ้นปี 2567 ดังนั้นบีโอไอจำเป็นที่ต้องหารือกันในบอร์ด EV ก่อน

สำหรับ การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ด EV) ครั้งแรก หลังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ด EV) ไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานบอร์ดเอง คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมนัดแรก ที่ไม่ได้มีเพียงบีโอไอนั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ

Advertisment

แต่ยังมีทั้งหน่วยงานอื่นเพิ่มเติมเข้ามาคือ กรมสรรพสามิต และยังคงมีหน่วยงานเดิม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวมถึง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อร่วมกันพิจารณาและดำเนินตามนโยบาย 30@30

สำหรับ มาตรการลดผลกระทบจากการเข้าร่วม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่จะมีการเก็บภาษี 15% จากบริษัทข้ามชาติ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ต้นปี 2568 จะมีผลกับการวางแผนการลงทุนแน่นอน

Advertisment

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเตรียม พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม ที่จะนำเสนอเข้า ครม. เพื่อจะจัดเก็บภาษี 15% กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่รายได้เกิน 750 ล้านยูโร/ปี ซึ่งจะมีบริษัทต่างชาติในไทยประมาณ 1,000 บริษัทที่เข้าข่าย และบีโอไอจะเป็นเครื่องมือในการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านภาษีและด้านการเงิน คือ สิทธิ์การลดหย่อนภาษีแทนการยกเว้นแต่เป็นระยะเวลานานขึ้น เช่น บริษัทได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษี 5 ปี มาเปลี่ยนสิทธิการลดหย่อนภาษี 50% เป็นเวลา 10 ปี

และการใช้ พ.ร.บ. เพิ่มขีดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้า (กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ) เพื่อเป็นเงินสนับสนุนในส่วนของการลงทุนเพื่อพัฒนา วิจัย ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ลงทุนหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ที่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้ของบประมาณเพิ่มทำให้วงเงินกองทุนเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท

สำหรับ ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ปี 2567 คาดว่าอาจสูงถึง 900,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการย้ายฐานการผลิตมาไทย การลงทุนจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร (PCB) และ Data Center  ทั้งนี้เป้าหมายยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่บีโอไอกำหนดไว้ 5 ปี ตามยุทธศาตร์ (2566-2570) อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ 600,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท เหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปี เชื่อว่ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะเป็นไปตามเป้า และที่สำคัญประเทศไทยจะได้อุตสาหกรรม โครงการ บริษัทที่มีคุณภาพและศักยภาพ เป็นผลมาจากการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ที่เน้นเศรษฐกิจใหม่ จึงมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่เป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพสูงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นอนาคตของประเทศ

“9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2567) มียอดขอรับส่งเสริมแล้วถึง 720,000 ล้านบาท เพราะไทยยังคงมีจุดแข็งหลายเรื่อง มีความโดดเด่นในสายตานักลงทุนอยู่หลายด้าน Infrastructure ที่มีคุณภาพสูงที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน ระบบ logistic ท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้าที่มีความละเสถียร ศักยภาพด้านพลังงานสะอาด Supply Chain ที่ครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมหลัก สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ มีช่างฝีมือคุณภาพสูงทั้งวิศวกรและช่างเทคนิค อาจจะดูเหมือนไม่ใช่ปัจจัยหลักในเชิงเศรษฐกิจ แต่ว่าเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้นักลงทุนตัดสิ้นใจเลือกไทยได้ง่ายขึ้น”