กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย 9 เดือน ปี ‘67 ต่างชาติลงทุนในไทย 134,805 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 157 ราย ลงทุน 74,091 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 207 ราย คิดเป็น 33%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เปิดเผยว่า 9 เดือน ปี 2567 (มกราคม-กันยายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1) ญี่ปุ่น 157 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการตรวจสอบการกำหนดค่า รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การติดตั้ง และการใช้งานเครื่องจักร เป็นต้น
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการจัดเก็บสินค้า วัตถุดิบ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ เคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย
- ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชั่น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ อุปกรณ์ระบบไฟฟ้ากำลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานพาหนะ)
2) สิงคโปร์ 96 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,222 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือช่างไฟฟ้า อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น
- ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น
- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, บรรจุภัณฑ์พลาสติก, ชิ้นส่วนอุปกรณ์ Optical Device)
3) จีน 89 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 11,981 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือหรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน)
- ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า แอปพลิเคชั่นค้นหาและใช้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น
- ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center)
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า แม่พิมพ์ล้อรถ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ)
4) สหรัฐอเมริกา 86 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,147 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ในการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษา การซ่อมแซม การเปลี่ยนอุปกรณ์เสริม และเครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาทิ รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า และยานพาหนะไฟฟ้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องมือแพทย์)
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน, DRUM BRAKE ASSEMBLY)
5) ฮ่องกง 46 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,116 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการฝึกอบรม ติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล
- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
- ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อสมัครและติดตามผลการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชุดแบตเตอรี่ความจุสูง ชิ้นส่วนโลหะ, Printed Circuit Board Assembly : PCBA) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 (เดือน ม.ค.-ก.ย. 67 อนุญาต 636 ราย/เดือน ม.ค.-ก.ย. 66 อนุญาต 493 ราย)
และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 (เดือน ม.ค.-ก.ย. 67 ลงทุน 134,805 ล้านบาท/เดือน ม.ค.-ก.ย. 66 ลงทุน 84,013 ล้านบาท) ในขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 3,198 ราย คิดเป็นร้อยละ 56 (เดือน ม.ค.-ก.ย. 67 จ้างงาน 2,505 คน/เดือน ม.ค.-ก.ย. 66 จ้างงาน 5,703 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
ลงทุนในพื้นที่ EEC
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 207 ราย คิดเป็น 33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 108 ราย หรือเพิ่มขึ้น 109% (เดือน ม.ค.-ก.ย. 67 ลงทุน 207 ราย/เดือน ม.ค.-ก.ย. 66 ลงทุน 99 ราย)
และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 39,830 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 147% (เดือน ม.ค.-ก.ย. 67 เงินลงทุน 39,830 ล้านบาท/เดือน ม.ค.-ก.ย. 66 เงินลงทุน 16,140 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 67 ราย ลงทุน 13,191 ล้านบาท จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
- ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย
- ธุรกิจบริการซ่อมแซมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น การวางแผนจัดหาและจัดซื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชิ้นส่วนโลหะ อุปกรณ์สำหรับรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น)