สัมภาษณ์พิเศษ
จากผู้ผลิตเสื้อผ้ายูนิฟอร์มผ่านวิกฤตโควิด ที่ “คนทำงานต้องเวิร์กฟรอมโฮม” ทำให้ตลาดชุดยูนิฟอร์มซบเซา จนต้องปรับโมเดลธุรกิจ นำนวัตกรรมมาผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป Function Garment พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจสำเร็จ
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์” ซีอีโอ บริษัท พาลาดิน เวิร์คแวร์ จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์ Graphenix และ Blue Bear ผู้ต่อยอดธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนวัตกรรม “ผ้าเส้นใยกราฟีน”
ชูกรีนและอินโนเวชั่น
ปีนี้ธุรกิจเรามุ่งทั้งในส่วนของอินโนเวชั่นและกรีน โดยส่วนของนวัตกรรม เราได้พัฒนาสินค้าที่ผลิตจากกราฟีน ซึ่งเป็นธาตุใหม่ของโลกที่สกัดมาจากกราไฟต์ วัสดุนี้ผู้วิจัย 2 คน ได้รางวัลโนเบลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทางยุโรปและอเมริกานำเอากราฟีนมาใช้ในอุตสาหกรรมไฮแวลู เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ออโตโมทีฟ อุตสาหกรรมยา อิเล็กทรอนิกส์ หลังจากผ่านมา 6-7 ปีเริ่มนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เช่น ทำฟิล์ม ทำสีรถยนต์ ซึ่งจะทำให้รถยนต์มีความแข็งแรง
“เมื่อการใช้เริ่มแพร่หลาย ทำให้ราคาถูกลงแต่ยังถือว่าสูง กก.ละเกือบ 1 ล้านบาท แต่เราเริ่มนำมาใส่เป็นลักษณะนาโน ความยากคือทำอย่างไรให้กระจายสม่ำเสมอเท่ากันและให้คุณสมบัติที่เท่ากันได้ บริษัทได้พัฒนามาประมาณ 2 ปี ตอนนี้ต่างประเทศมีที่ยุโรป อเมริกาเริ่มออกมา แม้ว่าราคายังสูงแต่แบรนด์กีฬาระดับโลกเริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่ผสมกราฟีน”
“จุดเริ่มต้นของบริษัทเริ่มพัฒนาผ้ากราฟีนเมื่อ 2 ปีก่อน เราได้งบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้ หลังจากผลงานวิจัยประสบความสำเร็จ”
จุดเด่นผ้ากราฟีน
สำหรับคุณสมบัติของผ้าที่มีส่วนประกอบจากกราฟีนมีหลายด้านมาก จนเรียกว่าเป็นอนาคตที่จะมาแทนสินค้าหลาย ๆ ตัวในโลกนี้ เช่น เราเอามาใส่ในผ้าทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดในตัวดีขึ้น หลังจากใส่ไม่ถึง 10 วินาที จะส่งตัวอินฟราเรด เหมือนกับที่เราได้รับแสงแดดตอนเช้าวิตามินดี ซึ่งไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกายคน แต่ไปกระตุ้นให้ร่างกายมีออกซิเจนเพิ่มขึ้น เลือดลมไหลเวียนเร็วขึ้น 2) คุณสมบัติแอนตี้แบคทีเรีย แอนตี้ไวรัส คือ มีอยู่ในคุณสมบัติของตัวมันเองอัตโนมัติ 3) ยูวีโปรเทกชั่น 99.9% ทั้ง ABC กันได้หมด
4) เป็นธาตุที่เบาที่สุดในโลก ใส่แล้วไม่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง หนาหรือหนัก ใส่สบายเหมือนเดิม เบาบางกว่าเดิม ระบายอากาศได้ดีมาก ปรับอุณหภูมิตัวเองได้เป็นไคลเมตคอนโทรล คือ ใส่ตอนอากาศร้อนก็จะเย็น หรือใส่ตอนอากาศเย็นก็จะอุ่น กันไฟฟ้าสถิตได้ โดยคุณสมบัติเหล่านี้อยู่ตลอดอายุการใช้งานเลย เพราะฝังอยู่ในไฟเบอร์ กระบวนการผลิตเรานำมาสู่กระบวนตั้งแต่ผลิตเส้นใย ย้อม หรือพิมพ์ลายก็ได้ ทั้งหมดนี้ ต่างประเทศก็ยังมีทำไม่มาก ในเมืองไทยมีผมที่ทำสำเร็จ และให้เพื่อน ๆ ทดลองใช้
5) ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทางสถาบันสิ่งทอคำนวณแล้วพบว่า ลดการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยสำหรับการใช้ผ้า 1 เมตร ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 10 กิโลคาร์บอน โดยได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ECO Tech จากยุโรป สะท้อนถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้เราพัฒนานิ่งแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจดสิทธิบัตร จากก่อนหน้านี้ ที่ได้จดแบรนด์สินค้าแล้ว จึงอยากทำการตลาด ยกตัวอย่าง เลกกิ้ง 1 ตัวก็ร่วม 2,000 บาท เทียบกับเลกกิ้งเนื้อเดียวกัน ก็ 600-700 บาท ผ้าห่ม ผืน 1 หมื่นบาท เรามีการันตีให้เขา ขายในกลุ่มเพื่อน ๆ ได้รับการตอบรับดี แต่เราต้องการขยายสู่ตลาดแมสมากขึ้น”
ต่อยอด ที่รัดขากราฟีน
นอกจากจะจำหน่ายผ้าเป็นวัตถุดิบแล้ว บริษัทยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลรัฐชั้นนำแห่งหนึ่งในการพัฒนาผ้ารัดขาจากเส้นใยกราฟีน แก้ปัญหาเรื่องเส้นเลือดขอด โดยฝ่ายโรงพยาบาลเป็นผู้ออกแบบที่รัดขา และนำไปจดสิทธิบัตร ส่วนเรามีวัตถุดิบผ้ากราฟีน และมีกระบวนการตัดเย็บ และมีกระบวนการตรวจสอบ เมื่อนำมาพัฒนาร่วมกันเป็นสินค้าตัวใหม่ ที่มีสิทธิบัตรร่วมกัน
“ตอนนี้อยู่ขั้นตอนการทดสอบทางคลินิก คาดว่าจะเสร็จสิ้นในกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 จากนั้นเตรียมกระบวนการผลิต และจะทำตลาดร่วมกัน โดยจะเริ่มวางตลาดในเดือนธันวาคม-ต้นปี 2568 สินค้านี้จัดอยู่ในกลุ่มบัญชียาหลัก และที่สำคัญการพัฒนานวัตกรรมนี้จะช่วยให้ไทยมีสินค้าใช้เองทดแทนสินค้านำเข้าจากอเมริกา ราคาก็ถูกลงครึ่งหนึ่งและคุณสมบัติก็ดีขึ้นอย่างมาก ในอนาคตเราอยากส่งออก”
ลุยต่อ “เสื้อกันรังสี”
นอกจากนี้ เรายังอยู่ระหว่างพัฒนา “เสื้อกราฟีนกันรังสี” สำหรับใช้ในห้องเอกซเรย์ ปกติหมอต้องใส่เสื้อตะกั่ว ที่หนา ๆ หนัก ๆ 10 กว่ากิโลกรัม แต่หากผลิตเสื้อจากเส้นใยกราฟีนเหลือไม่ถึง 1 กก. และป้องกันได้ดีเกือบเท่าตะกั่ว ตอนนี้เราพยายามทำให้ป้องกันเท่ากับตะกั่ว เร็ว ๆ นี้คงจะสำเร็จได้ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งผ้าชนิดนี้ในต่างประเทศนำไปทำเสื้อกันกระสุน เพราะแข็งแรงที่แกร่งสุดในโลก
“เสื้อกันรังสีถูกกว่านำเข้า ซึ่งมีราคาหลักหมื่น ทำให้ประเทศช่วยลดการนำเข้าได้ และคุณสมบัติน้ำหนักเสื้อที่ลดลงจะช่วยให้หมอที่อยู่ห้องเอกซเรย์ และรังสีวิทยาทั้งหลาย ที่มักจะมีปัญหาเรื่องหลังกับกระดูกจนต้องเกษียณก่อนแผนกอื่นเพราะแบกน้ำหนักเสื้อกันรังสีที่หนักสิบกว่า กก.ทั้งวัน และโดนรังสีเยอะ เสื้อกันรังสีเราน้ำหนักลดลงจากสิบกว่า กก. เหลือ 850 กรัม และเป็นของใหม่ในโลก”
แผนการตลาด
ตอนนี้สินค้ากลุ่มนวัตกรรมจากกราฟีน เราเริ่มประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาดทางเฟซบุ๊ก มีแผนจะส่งออก เช่น การนำไปผสมเส้นใยเพื่อผลิตเป็นเสื้อกีฬา ช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด เบา บางสบาย กันยูวี ลดแบคทีเรียใส่แล้วไม่เหม็น คุณสมบัติทุกอย่างอยู่ในเสื้อตัวเดียว เป้าหมายปีแรกของการเปิดตลาด เราวางไว้ที่ 50 ล้านบาท สำหรับการขายสินค้ากราฟีนโดยเฉพาะหมวดการแพทย์ที่รัดขาแก้เส้นเลือดขอดที่ร่วมกันหากสำเร็จ เพียงปีหนึ่งก็เกินเป้าหมายที่วางไว้แล้ว
“ช่วงแรกอยากขายเป็นสินค้าสำเร็จรูป ส่วนวัตถุดิบผ้ากราฟีนยังต้องขายให้กลุ่มที่เป็นแบรนด์ เพราะราคาผ้ากราฟีนยังสูงกว่าผ้าทั่วไป 4-5 เท่า ในการผลิตนำเข้ากราฟีนจากเยอรมนีมาเป็นวัตถุดิบ ต้นทุน กก.ละเกือบ 1 ล้านบาท แพงกว่าทองเยอะเลยเป็นร้อยเท่า ซึ่งเรานำมาพัฒนาสูตรผสมเป็นสูตรเราทั้งหมด”
ต่อยอดยูนิฟอร์มรักษ์โลก
สัดส่วนรายได้ตอนนี้ชุดยูนิฟอร์มยังเป็นรายได้หลัก แต่ปีหน้าเราอยากจะเน้นเพิ่มรายได้จากสินค้ากลุ่มกรีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทที่ต้องทำส่งออกต้องเน้นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพราะเรากำลังรายงานการปล่อยคาร์บอนรายสินค้า (Carbon Footprint of Product : CFP) และรายงานการปล่อยคาร์บอนขององค์กร (Carbon Footprint of Organization : CFO) ซึ่งเราทำ CFP กับสินค้าหลายรายการให้กับลูกค้าหลายรายแล้ว เช่น ยูโอบี เอสซีบี กลุ่มทรู และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายเจ้า
“ตอนนี้ยูนิฟอร์มยังไม่มีใครทำเรื่อง CFP/CFO โดยตรง แต่ผมอยากจะกระตุ้นริเริ่มให้ทำ บริษัทต่าง ๆ ตื่นตัว เราทำมีสเตตเมนต์ให้ลูกค้าว่าลดอะไรบ้าง ตั้งแต่ในกระบวนการปั่น-ทอ-ฟอกย้อม รวมแล้วสุดท้าย ลดไปเท่าไร มีใบ Certification ที่ออกโดยสถาบันสิ่งทอ แต่ทั้งหมดเราลงทุนเก็บข้อมูลให้หมด ต้นทุนในการทำแต่ละรายการเป็นหลักแสน อยากจะขอให้หน่วยงานอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ว่าขอให้ลดค่าใช้จ่ายให้เอสเอ็มอีบ้าง เพราะว่าทดสอบเสื้อ 1 ตัว แสนกว่าบาท ถ้าทำทุกตัวแทบจะไม่ไหว”
กำไรจากสินค้านวัตกรรม
ตลาดเครื่องนุ่งห่ม ปี 2567 ในประเทศไม่ดีเลย ส่วนตลาดส่งออกถือว่าทรง ๆ ไม่ดีไม่แย่ เพราะมีหลายประเด็น ไทยส่งออกเสื้อผ้าเป็นบวก 3-4% ในช่วง 9 เดือน ปี 2567 ยังถือว่าดี ส่วนสิ่งทอติดลบ 7-8% ขณะที่รายได้ของบริษัทเราในปี 2567 กำไรดีขึ้น เพราะขายสินค้าที่มีนวัตกรรมและกรีนจึงได้กลุ่มลูกค้าที่มีมาร์จิ้นดีขึ้น
แนวโน้มปี 2568 เป็นห่วงแค่สถานการณ์ของโลก ส่วนไทยคิดว่า รัฐบาลจะอยู่ครบ แต่ต่างประเทศมีการสู้รบกันหลายจุด ก็กลัวว่าจะแกว่งและมีผลกับเรา แนวโน้มดอกเบี้ยน่าจะลงนิดหน่อย และการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบอาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ดีขึ้น