ทีดีอาร์ไอแนะไทยตั้งรับ 4 ภัยพิบัติ อนาคต 20-25 ปีอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส เสี่ยงไทยสูญเสียสูงติดอันดับ 9 ของโลกจากภัยพิบัติ ภาคเกษตรผลผลิตลด นิคมน้ำท่วมย้ายฐานผลิต รายได้ท่องเที่ยวลด เมืองจมน้ำ พื้นที่ทะเลถูกกัดเซาะ คาดสร้างความเสียหายปีละ 2.8 แสนล้าน จากที่เสียหายไปแล้ว 2 ล้านล้าน จี้รัฐแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ออก พ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI-Thailand Development Research Institute หรือ ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย๊ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา หากประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามความตกลงปารีสที่ได้ประกาศไว้ อุณหภูมิของโลกก็มีโอกาสอาจสูงถึง 4-5 องศาเซลเซียส
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยขึ้นในระดับที่เรียกว่า “โลกเดือด” ขั้นเลวร้าย โดยไทยต้องเตรียมรับความเสี่ยงจาก 4 ภัยพิบัติ ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง และปัญหาโลกรวน
“จากปัญหาโลกร้อน หลายประเทศต้องประสบภัยพิบัติ อนาคตประชากร 400 ล้านคนทั่วโลกกำลังจะเจอความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางด้านอากาศ และไทยกำลังเจอปัญหาระดับน้ำทะเลสูง และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งไม่เกิน 30 ปีบางพื้นที่ของไทยจะจมหายไป การเกิดอุทกภัยน้ำท่วมรุนแรงจากปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งรุนแรงขึ้น บางพื้นที่อาจจะขาดน้ำใช้ ร้อนนานขึ้น อุณหภูมิสูง และภัยสุดท้ายโลกรวน หากไม่มีการปรับตัว
โอกาสที่ไทยจะมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 9 ของโลกในเรื่องของปัญหาโลกรวนในอีก 20 ปีข้างหน้า และจะทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือ 2.8 แสนล้านบาท ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และเมื่อเปรียบเทียบและคาดการณ์ที่มีผลกระทบต่อจีดีพี หากอุณหภูมิโลกสูงเฉลี่ย 2 องศาในปี 2050 จีดีพีของไทยจะติดลบ 19.5% ในขณะที่เอเชียติดลบ 14.9% ยุโรปติดลบ 7.7% ตะวันออกกลางและแอฟริกาติดลบ 14% อเมริกาเหนือติดลบ 6.9% ส่วนอเมริกาใต้ติดลบ 10.8%
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “เร่งภาคการผลิตปรับตัว…รับมือโลกรวน” ว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ไทยสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าผลผลิตข้าวจะลดลงถึง 21.7% ผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลง 30% รวมถึงสินค้าเกษตรอื่น เช่น อ้อย
ดังนั้น ภาคเกษตรจะต้องปรับตัว โดยยึดแนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ระดับนโยบายต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนแล้ง-ทนน้ำท่วมได้ มีผลผลิตสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่จะทำให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้
นายสุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ กล่าวในหัวข้อ “สร้างเมืองใหม่๊ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ว่า เมืองจะเผชิญกับภัยความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองหลักอย่าง กทม. ซึ่งมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก ส่วนปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะนั้น ในเขตบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนผืนดินหายไปถึง 2,735 ไร่ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ได้ผล
นางสาวเสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “รับมือภัยพิบัติ๊จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ” ว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยในช่วงปี 2543-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศถึง 146 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 138 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 2.8 แสนล้านบาท โดยภัยธรรมชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุอุทกภัยรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
นายณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเดินหน้าสู่การปฏิบัติจริงคือ 1.ตั้งศูนย์วิชาการภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง เช่นจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) 2.เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคของหน่วยงานรัฐส่วนกลาง โดยขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
3.ยกระดับการทำงานแบบบูรณาการ โดยให้อำนาจตามกฎหมายและอำนาจให้คุณให้โทษร่วมกับการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเร่งออก พ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐ เริ่มใช้กับจังหวัดและลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มี “ผู้ว่าฯ ซูเปอร์ซีอีโอ” และผู้บัญชาการลุ่มน้ำ 4.แก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม โดยระงับการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่เสี่ยง