ก.เกษตรฯ แจง 4 ข้อ ตรวจสอบทุเรียนส่งออกไปจีนปนเปื้อนแคดเมียม

พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิด 4 ข้อชี้แจงความคืบหน้าการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนที่ส่งออกไปจีน ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ที่สุด

พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนส่งออกของบริษัทผู้ส่งออกทุเรียนไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 2/2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียน โดยมีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า

การประชุมในวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนส่งออกไปจีน ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 953/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนส่งออกของบริษัทผู้ส่งออกทุเรียนสดไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบสาเหตุและข้อเท็จจริงกรณีพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนสดตลอด Supply Chain รวมถึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและการป้องกัน โดยคณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการผลิตเพื่อส่งออกตั้งแต่แปลงเกษตรกร โรงคัดบรรจุ การตรวจสอบการปฏิบัติงานในการรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออก รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการลักลอบนำเข้าเพื่อสวมสิทธิอย่างละเอียด

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกทุเรียนไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และกำหนดท่าทีในการหารือกับ GACC ให้เกิดความชัดเจน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกำหนดแนวทางดังนี้

Advertisment

1) รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในทุเรียนส่งออก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างจริงจังตลอด Supply Chain

2) ยืนยันพื้นที่ปลูกทุเรียนของไทยปลอดภัยจากการปนเปื้อนไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยมีข้อมูลวิทยาศาสตร์และผลวิเคราะห์จากตัวอย่างดินและน้ำไม่เกินค่ามาตรฐาน

Advertisment

3) ยืนยันข้อมูลตรวจสอบสารเคมีในโรงคัดบรรจุไม่เกินค่ามาตรฐาน และเสนอมาตรการยกระดับมาตรฐาน กำกับดูแลโรงคัดบรรจุส่งออก โดยการแก้ประกาศที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและยกระดับมาตรฐานโรงคัดบรรจุ

4) ชี้แจงสาเหตุของการปนเปื้อนที่คาดว่าเกิดจากการสวมสิทธิ ซึ่งอาจเกิดจากความเสี่ยงในระหว่างการขนส่ง พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขโดยการปรับรูปแบบซีลปิดตู้คอนเทนเนอร์รูปแบบใหม่ รวมถึงหารือเกี่ยวกับมาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งทางบก และมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียนสดด้วย