อมตะ ยู เปิดให้ ‘อีสท์ วอเตอร์’ สูบน้ำจาก 17 บ่อ ป้อน EEC

อมตะ ยู เปิดให้ 'อีสท์ วอเตอร์' สูบน้ำจาก 17 บ่อ ป้อน EEC

อมตะ ยู เปิดทาง ‘อีสท์ วอเตอร์’ ครั้งแรกศึกษาแนวทางบริหารจัดการน้ำใน EEC จาก 17 บ่อแหล่งน้ำขุดของอมตะ ผ่าน 565 ท่อส่ง ซัพพอร์ตการเติบโตของเมือง สนามบิน อุตสาหกรรม ที่ต้องการน้ำมากกว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตรในอีก 3 ปีข้างหน้า

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ ยู จำกัด หรือ อมตะ ยู กล่าวว่า อมตะ ยู เป็นบริษัทของกลุ่มอมตะ ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดหาและให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน ครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งในและต่างประเทศ อมตะ ยู มุ่งมั่นให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มีคุณภาพสูงและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล

ล่าสุดได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทาง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากแหล่งน้ำของอมตะที่ขุดและเก็บกักน้ำไว้ 17 บ่อ ซึ่งปัจจุบันอมตะมีน้ำดิบสะสมสูงถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองได้ 2 ปี หากฝนไม่ตก

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรน้ำดิบเพื่อรองรับความต้องการน้ำในระยะยาวของภาคอุตสาหกรรมภายใต้ขอบเขตความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระยะเวลา 12 เดือน โดยจะร่วมกันศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำดิบของอมตะ ยู และการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อน้ำของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อสร้างระบบส่งน้ำที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ รองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

“เรามีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในด้านการบริหารจัดการน้ำดิบในช่วงวิกฤตน้ำแล้ง รวมถึงในสถานการณ์ปกติ ภายในนิคมเองมีแหล่งน้ำดิบเหลือใช้ในพื้นที่ของนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ผ่านโครงข่ายท่อของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตในโรงงานตลอดทั้งปี และในช่วงการเติบโตของพื้นที่ EEC จะมีการจัดส่งน้ำดิบเพิ่มเติมในปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการส่งน้ำจากในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก”

Advertisment

ดร.เพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า การร่วมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เน้นการศึกษาศักยภาพแหล่งน้ำดิบ โดยนำน้ำดิบดังกล่าวมาบริหารจัดการส่งโดยโครงข่ายท่อของ อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 565 ท่อ เพื่อเสริมความมั่นคงเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำและสร้างความเชื่อมั่นตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำระยะยาวในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ พร้อมดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนในทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เป็นหลัก โดยพัฒนาท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีโครงการท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุด-สัตหีบ โครงการท่อส่งน้ำดิบ หนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง เพื่อที่จะตอบสนองการรับส่งน้ำในเขตนิคมอุตสาหกรรม และโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งสายคลองหลวง-ชลบุรี เพื่อที่จะสามารถรับส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

Advertisment

และเพื่อให้โครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ของอีสท์ วอเตอร์ มีความสมบูรณ์มั่นคง และแข็งแกร่งในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโต และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน จึงเกิดความร่วมมือของทั้งสองบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรให้เต็มประสิทธิภาพในพื้นที่ EEC ตอบสนองนโยบายของภาครัฐ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน

ความร่วมมือในครั้งนี้ยังรวมถึงการศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ทั้งน้ำดิบ น้ำอุตสาหกรรม น้ำเสีย และการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำและโครงข่ายท่อน้ำ

“เราเคยมีกำลังส่งน้ำได้สูงสุด 300 ลูกบาศก์เมตร เมื่อ 6 ปีก่อนที่เกิดภัยแล้งมาก ๆ ตอนนี้กำลังการผลิตเราเฉลี่ยอยู่ที่ 270 ลูกบาศก์เมตร ที่ป้อนให้ EEC ซึ่งตอนนี้มันยังเพียงพอในช่วง 3 ปี แต่คาดการณ์ว่าเมื่อ EEC มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น มีสนามบิน มีเมืองใหม่ ความต้องการน้ำต้องมากขึ้นแน่นอน อย่างน้อยเราต้องมี 5 ล้านลูกบาศก์เมตรไว้รอแน่นอน ทำให้แหล่งน้ำที่มีอยู่ตอนนี้ที่เราประมูลได้มันอาจไม่พอ

จึงจำเป็นต้องศึกษาจากแหล่งน้ำของอมตะ แล้วจะดูว่าจะซื้อขายกันอย่างไร อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเรามีแหล่งน้ำและดีมานที่ปลายทางคือใคร เราจะมีน้ำเพิ่มขนาดไหน ที่ตะเอาไว้ใช้ให้ให้ผู้บริโภค ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าปีนี้ปีหน้าน้ำจะพอหรือไม่”