กรมชลประทาน เผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ จ.นครราชสีมา หลังสิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 พบว่าภาพรวมปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรอบคอบและรัดกุม
รายงานข่าวจากกรมชลประทานระบุว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 8 ในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีน้ำต้นทุนอยู่ประมาณ 634 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 52% ของความจุอ่างรวมกัน
โดยอ่างเก็บน้ำหลักที่ใช้ในการสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ อย่างอ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 33% ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 93 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 60% ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 59% ของความจุอ่าง ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำแชะมีน้ำอยู่ 154 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 56% ของความจุอ่าง
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2567/68 รวมทุกกิจกรรมการใช้น้ำจะอยู่ที่ประมาณ 229 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะจัดสรรตามลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และการอุตสาหกรรม
ในส่วนของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขต จ.นครราชสีมา ในปีนี้ได้จัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 37,373 ไร่ ตามศักยภาพน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ ประกอบไปด้วย ข้าวนาปรัง พืชไร่ พืชผัก ผลไม้ และไม้ยืนต้น รวมทั้งยังได้สนับสนุนการทำบ่อปลาและบ่อกุ้งด้วย
ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำดังกล่าว สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัดและจัดสรรน้ำอย่างประณีต เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำบางแห่งที่อยู่ใน จ.นครราชสีมา ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการทำนาปรัง ต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่บางส่วน เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะขาดน้ำและได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง