กฟผ. เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับเพิ่ม 3 แห่ง 2,300 เมกะวัตต์ ต้นทุนต่ำ งบฯลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท พร้อมเสริมความมั่นคงกรุงเทพฯ ขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ-พระนครใต้ อีกโรงละ 700 เมกะวัตต์
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ศึกษาข้อมูลด้านพลังงานทั่วโลกเพื่อนำมาเสนอกระทรวงพลังงานนำมาปรับใช้กับประเทศไทยให้รองรับทิศทางพลังงานและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศไทยเตรียมพร้อมรับแผนไฟฟ้าระยาว หรือร่างแผน PDP 2024 ใช้พลังงานทดแทนเพิ่มจาก 20% เป็น 50% โดยภายในแผนจะมีการศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งละ 800 เมกะวัตต์ 3 แห่ง
ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนวชิราลงกรณ และพื้นที่กระทูน จ.นครศรีธรรมราช รวมกำลังผลิตราวกว่า 2,400 เมกะวัตต์ ใช้งบฯลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท ในขณะที่การสร้างเสริมความมั่นคงในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้พลังงานมากที่สุด การไฟฟ้านครหลวงจึงเตรียมแผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้เพิ่มอีกแห่งละ 700 เมกะวัตต์ ตามแผนจะเข้าระบบปี 2571 และ 2573 ตามลำดับ
“ระบบไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในส่วนของเขื่อนจุฬาภรณ์ผ่าน EIA แล้ว ต้นทุนค่าไฟเพียงกว่า 2 บาท/หน่วย ถือว่าต่ำมากและเสริมความมั่นคงและเสริม RE ที่จะเพิ่มขึ้นตามเทรนด์โลก” นายธวัชชัยกล่าว