AEC ดัน จีพีดีอาเซียน 3,994 ล้านเหรียญสหรัฐ

คอลัมน์ DATA

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินการค้าการลงทุนในอาเซียน และ CLMV หลังเข้ากลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปี 2558 และแนวโน้มอีก 5 ปีข้างหน้าพบว่า GDP ในกลุ่มอาเซียน ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2558 มูลค่า 2,451.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2,761 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 309.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายตัวเป็น 3,994.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1,233.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หากดูเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV จะมีอัตรการเติบโตจีดีพีเฉลี่ย 6.8% โดยจีดีพีของเมียนมาขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ค่าเฉลี่ยในกลุ่ม ASEAN 6 จะขยายตัวเฉลี่ย 4.5%

หากเปรียบเทียบสัดส่วน GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า GDP ของกลุ่ม CLMV จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% หรือมีมูลค่าเพิ่ม 223 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนมูลค้าการค้าภายในอาเซียน 6 ประเทศ หลังรวม AEC ปี 2558-2560 อยู่ที่ 513,399 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 636,444 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 ส่วนมูลค่าการค้าในกลุ่ม CLMV หลังรวม AEC ปี 2558-2560 อยู่ที่ 82,453 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 114,825 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565

อย่างไรก็ตามพบว่า สัดส่วนมูลค่าการค้าภายในอาเซียน ระหว่างปี 2559-2560 อยู่ที่ 24.7% และคาดการณ์ว่า สัดส่วนการค้าในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2561-2565) จะมี 24.8% ขณะที่สัดส่วนการค้านอกกลุ่มอาเซียน ปี 2559-2560 เท่ากับ 75.2% เพิ่มเป็น 75.3% ในปี 2565

สาเหตุสำคัญที่การค้าภายนอกอาเซียนดีขึ้นเป็นผลจาก 1) กำลังซื้ออยู่ในกลุ่มประเทศนอกอาเซียนดีขึ้น 2) โครงสร้างการส่งออกสินค้าในอาเซียน CLMV เป็นสินค้าใกล้เคียงกัน เช่น สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันและดึงส่วนแบ่งในตลาด

3) การใช้มาตรการที่มิใช่ทางภาษีมากขึ้นในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว ต่างออกมาตรการเพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศ 4) อาเซียนทำ FTA กับประเทศนอกอาเซียนทั้งจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และ 5) การเข้าลงทุนในอาเซียนมาจากประเทศนอกอาเซียนมากขึ้น เพื่อผลิตและส่งออกขายไปต่างประเทศและขายในอาเซียนกันเอง


สรุปได้ว่าในการรวมกลุ่ม AEC ไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดในด้านการค้า ขณะที่การลงทุนยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และยังต้องแข่งขันสูง