มาทีเดียว 3 ลูก พายุ “หยินซิ่ง-โทราจี-หม่านหยี” ไม่เข้าไทย แต่เกิดฝนตกมากขึ้น

อัพเดตล่าสุด 11 พ.ย. 2567 เวลา 14.59

พายุลูกที่ 22-23-24 เกิดติดต่อกัน เฉพาะ “หยินซิ่ง” จะช่วยเพิ่มปริมาณฝนในประเทศ ส่วนอีก 2 ลูกที่เหลือ ไต้ฝุ่นโทราจี กับ โซนร้อนหม่านหยี ไม่ส่งผลกระทบต่อไทย

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัททีม คอนซัลติ้ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG กล่าวถึงพายุ 3 ลูกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า

แม้จะไม่ส่งผลต่อไทยโดยตรง แต่พายุไต้ฝุ่นหยินซิ่ง จะมาเพิ่มปริมาณฝนตกในประเทศไทยมากขึ้น โดยระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย. พายุหยินซิ่งจะทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง

วันที่ 12-13 พ.ย. ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต และตรัง

ส่วนเส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุไต้ฝุ่นหยินซิ่ง หลังจากก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกได้เคลื่อนที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ และทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3

วันที่ 8 พ.ย. พายุเปลี่ยนทิศทางเป็นเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. คาดการณ์พายุจะขึ้นฝั่งที่เวียดนาม ทำให้ฝนตกหนักมากที่เมืองกวีเญินและพื้นที่โดยรอบ มาถึงวันที่ 14 พ.ย. คาดว่าพายุลูกนี้จะสลายตัวไปในที่สุด

Advertisment

ด้านพายุไต้ฝุ่นโทราจี (#23:Toraji = ดอกไม้ป่า เกาหลีเหนือ) ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 23 ของปีนี้ ได้ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เคลื่อนที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ จะมีผลทำให้

วันที่ 11 พ.ย. พายุจะขึ้นฝั่งทำให้ฝนตกหนักมากในพื้นที่ตอนเหนือของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ วันที่ 12 พ.ย. อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนที่ในทะเลจีนใต้

Advertisment

วันที่ 15 พ.ย. พายุโทราจีจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในเกาะไหหลำ พอมาถึงวันที่ 16-17 พ.ย. คาดว่าพายุจะสลายตัวไปในทะเลทางตะวันออกของเกาะไหหลำ

ขณะที่พายุลูกที่ 24 ของปีนี้คือ พายุโซนร้อนหม่านหยี (#24:Man-Yi= อ่างเก็บน้ำในฮ่องกง) ได้ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เคลื่อนที่ไปทางตะวันตก

วันที่ 16-17 พ.ย. คาดว่าพายุจะเปลี่ยนทิศทาง “กลับตัว” เคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้วันที่ 17 พ.ย.เกิดฝนตกมากขึ้นทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

วันที่ 18 พ.ย. ทำให้ฝนตกมากขึ้นทางตอนกลางของญี่ปุ่น และ ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ย. คาดว่า พายุโซนร้อนหม่านหยีจะสลายตัวไปในทะเลทางตะวันออกของญี่ปุ่น

“ต้องติดตามพายุทั้ง 3 ลูกนี้อย่างใกล้ชิดเพราะ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ซึ่งส่งอิทธิพลช่วยให้พายุไม่เข้าไทยจะมีกำลังแรงอยู่ถึงวันที่ 12 พ.ย. หรือหากมีความเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผลต่อพายุทั้ง 3 ลูกนี้ด้วย” นายชวลิตกล่าว

ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า วันนี้ (11 พ.ย. 67)มวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง ยังแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนต่อเนื่อง ทำให้ลมหนาว (มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) พัดต่อเนื่อง ส่วนลมในระดับกลาง ยังมีลมฝ่ายตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดเข้ามาแทรกบางช่วง อากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนกลางวันอาจจะร้อนบ้าง เนื่องจากเมฆมีน้อย สำหรับยอดดอย ยอดภู จะมีอากาศหนาว

ช่วง 12-17 พ.ย. 67 มวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลง ลมเบาลง และอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น อากาศร้อนตอนกลางวัน ส่วนภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล อุณหภูมิสูงขึ้นและมีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อย ระวังรักษาสุขภาพช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง

ช่วง 10-13 พ.ย. 67 ยังต้องติดตามพายุ “หยินซิ่ง (YINXING)” ทะเลจีนใต้ตอนบน พายุนี้เริ่มอ่อนกำลังลง ทิศทางยังมีเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม จึงยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่อาจจะทำให้ภาคอีสานด้านตะวันออกมีเมฆเพิ่มขึ้น เนื่องจากเคลื่อนตัวมาในขณะที่มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา