CKPower โชว์ Q3/67 กวาดรายได้ 2.9 พันล้าน รับยอดขายไฟฟ้า NN2 พุ่ง

CKPower

CKPower แข็งแกร่ง Q3/67 กวาดรายได้กว่า 2.9 พันล้าน ด้าน 9 เดือนแรกปี 67 รายได้พุ่งกว่า 8 พันล้าน รับอานิสงค์ยอดขายไฟฟ้าน้ำงึม2 (NN2) เพิ่ม พร้อมแรงหนุนลานีญา-พายุยางิ

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) เปิดเผยว่า CKP หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง  มีผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งในไตรมาส 3/2567 และงวด 9 เดือนปี 2567 ที่แข็งแกร่งและมีความมั่นคงทางการเงิน โดยในไตรมาส 3 มีรายได้รวม 2,901.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5

ขณะที่งวด 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 8,012.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อยู่ที่ร้อยละ 29.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 รวมถึงมีอัตรากำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) อยู่ที่ร้อยละ 44.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนของปีนี้ มาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.5 และ 42.2 ตามลำดับ จากปรากฎการณ์ลานีญาและอิทธิพลจากพายุยางิที่ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2567 ส่งผลให้ NN2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ค่าเชื้อเพลิงของบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) ยังลดลงตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติ

CKPower

“จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงที่เหลือของปี 2567 และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มีความคล่องตัว นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมของ CKPower ในไตรมาส 4 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568” นายธนวัฒน์ กล่าว

Advertisment

สำหรับฐานะการเงินของ CKPower มีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 73,653 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากสิ้นปี 2566 มีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 1.98 เท่า เพิ่มขึ้น 0.30 เท่าจากสิ้นปี 2566 ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.54 เท่า เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2566 สะท้อนถึงความเพียงพอของสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา CKPower ได้รับคะแนนกำกับดูแลกิจการ (CG Score) ในระดับ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สะท้อนการบริหารจัดการบริษัทที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ครอบคลุมมิติบรรษัทภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG)

Advertisment

พร้อมกันนี้ในช่วงเดียวกัน บริษัทได้รับเกียรติบัตรจากโครงการ ESG DNA ชุดความรู้ด้านความยั่งยืน สำหรับบุคลากรทุกระดับ จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะ 1 ใน 50 องค์กรต้นแบบที่ได้เข้าร่วมโครงการและมีพนักงานเข้าอบรมผ่านเกณฑ์แล้วกว่าร้อยละ 79.7 ของหลักสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับหลักการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน

“CKPower ยังคงมุ่งมั่นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับประเทศไทย พร้อมกับสานต่อกลยุทธ์ด้านการจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานสากล รวมถึงแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593″ นายธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

เกี่ยวกับ “บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower”

บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย (1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ (2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด

ซึ่งบริษัทถือหุ้น 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ (3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 13 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 11 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์