เกษตรกรได้เฮ! นายกฯไฟเขียวตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร-กำชับต้องดูแลตลอดชีพ

เกษตรกรได้เฮ! นายกฯไฟเขียวตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร-กำชับต้องดูแลตลอดชีพ พร้อมอัดฉีด2หมื่นล้าน จูงใจชาวนาเลิกปลูกข้าวปรับอาชีพ จ่ายไร่ละ 2 พันบาท

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนสวัสดิการให้เกษตรกร ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีเห็นด้วย และสั่งการให้ดำเนินการเรื่องสวัสดิการการดูแลเกษตรกร รวมไปจนถึงเรื่องของการเสียชีวิตแล้วมีค่าชดเชย เหมือนการประกอบอาชีพอื่น เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรรม โดยเกษตรกรทุกสาขาจะต้องมีสวัสดิการดูแล มีเงินจากกองทุนคุ้มครอง เหมือนกับเกษตรกรต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีการให้สวัสดิการแก่เกษตรกรดูแลตลอดชีพจนกระทั่งเสียชีวิต มีเงินเยียวยาเกษตรกรเมื่อเจอปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขกองทุนฯและรายละเอียดต่างๆจะสามารถสรุปได้ประมาณ 2 เดือนจากนี้ แต่ในเรื่องสวัสดิการเกษตรกร ต้องดำเนินการให้รอบคอบ เพราะ มันไปซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น อาทิ เรื่องบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตร 30 บาท) กฏหมายของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการกำหนดการดูแลสวัสดิการไว้ แต่เป็นเงินจ่ายขาด หากมีการจัดตั้งกองทุนดูแสสวัสดิการเกษตรกร จะต้องนำเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาดูแลด้วย แต่การดำเนินการเรื่องนี้ ต้องเกี่ยวข้องกับกฏหมายหลายอย่าง ต้องดูในข้อกฏหมายในเรื่องงบประมาณในการตั้งกองทุนและงบบริหารว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังหรือไม่ ต้องดูเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 และ พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2522 หรือไม่ต้องนำมาปรับถ้อยคำเพิ่มเติมบางมาตราเพื่อให้คุ้มครองการทำเกษตรกรรม

“ตั้งใจทำเรื่องสวัสดิการเกษตรกรให้เกิดในรัฐบาลนี้ ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังทำหลักการให้ชัดเจน ไม่ให้ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หรือวินัยทางการคลังที่กำหนดการใช้เงินของภาครัฐไว้ แต่ทุกสาขาอาชีพเกษตรกรต้องมีสวัสดิการดูแลทั้งหมด และได้รับกองทุนคุ้มครอง ซึ่งชาวนาประกอบอาชีพสุจริตมาตลอดชีวิต น่าจะมีสวัสดิการคุ้มครองแล้ว จนวันที่เสียชีวิตต้องได้รับเงินชดเชยเหมือนอาชีพอื่นๆ”

นายกฤษฎากล่าวว่า กระทรวงเกษตรเตรียมงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรโดยลดการปลูกข้าว ไปปลูกพืชอื่น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว เป็นต้นหากชาวนาสนใจเข้าร่วมโครงการจะต้องไปลงทะเบียนกับ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยรัฐบาลจะชดเชยเงินสำหรับการเปลี่ยนอาชีพ 2,000 บาท/ไร่ โดยสามารถลงทะเบียนได้ไม่เกิน 30 ก.ย.นี้ ซึ่งการเปลี่ยนชาวนาให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อเป็นการลดปริมาณข้าวที่อาจมีมากเกินความจำเป็นส่งผลให้ราคาตกต่ำ

ทั้งนี้ แผนการดำเนินการปลูกข้าวครบวงจร ปีนี้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ ขณะนี้เพิ่งปลูกเพียง 3 ล้านไร่ มั่นใจว่าผลลิตข้าวจะไปตามแผนแน่นอน เพราะปัจุจบันเกษตรกรมีการเรียนรู้แล้วว่า ถ้าปลูกข้าวมาจำนวนมากจะได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนพื้นที่ที่เคยปลูกเกินนั้น รัฐมีมาตรการจูงใจในการปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่น


นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กำลังส่งเสริมชาวนาให้รวมกลุ่มทำนาข้าวแปลงใหญ่ จากเป้าหมายพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ โดยในปี 2564 จะต้องมีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ 30% หรือ 19 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่เริ่มโครงการแปลงใหญ่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตไปได้ถึง 20% และเกษตรกรมีความสนใจมาก จึงคาดว่าแปลงใหญ่จะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ข้าวจำนวนทั้งหมด 1,700 แปลง ซึ่งกรมการข้าวจะคัดแปลงข้าวที่ดีที่สุด 20 แปลง มาเป็นต้นแบบผลิตข้าวระดับพรีเมียม โดยใช้เทคโนลียสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำนา