“ผู้ค้าก๊าซ”รายเล็กขาดทุนยับ ปตท.-สยามแก๊สครองตลาดรับเปิดเสรี

ส่องผลประกอบการผู้ค้ามาตรา 7 เฉพาะส่วนผู้ค้าก๊าซ LPG ช่วง 54-59 แบกขาดทุนสะสมอ่วม รับเปิดเสรีก๊าซเต็มรูปแบบ ดับบลิวพีฯ นำโด่งขาดทุนรวม 1.5 หมื่นล้าน ลุ้นรายเล็ก อูโน่แก๊ส, ทาคูนิ กรุ๊ป, ยูไนเต็ด แก๊ส, ไทยแก๊สประคองกิจการต่อ หวั่นซ้ำรอย พลังอัศวินฯ แจ้งยกเลิกการค้าก๊าซไปแล้วเงียบๆ

ช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปแตะ 100 -150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตั้งแต่ปี 2551 ได้กลายเป็นยุคบูมของก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพราะความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคขนส่ง เพราะราคาก๊าซ LPG ในขณะนั้นถูกกว่าราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการหลายรายหันมาเป็นผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อค้าส่ง-ค้าปลีกก๊าซ LPG ไปจนถึงรับติดตั้งถังก๊าซในรถยนต์ แต่ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพลิกกลับมายืนราคาต่ำที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาเติมน้ำมัน ความต้องการใช้ก๊าซ LPG ลดลงต่อเนื่อง ผู้ค้าก๊าซต้องงัดกลยุทธ์ดึงลูกค้า ยอมหั่นกำไรเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผลประกอบการผู้ค้ามาตรา 7 โดยเฉพาะในส่วนของผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ประมาณ 21 ราย พบว่าในส่วนของผู้ค้าก๊าซรายกลาง-รายเล็ก ต้องประสบปัญหา “ขาดทุน” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554-2559 คือ 1) บริษัท ดับบลิว พี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) กับบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด 2) บริษัท อูโน่ แก๊ส จำกัด 3) บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด 4) บริษัท ยูไนเต็ด แก๊ส จำกัด และ 5) บริษัท ไทยแก๊ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งนี้เมื่อสำรวจข้อมูลย้อนไปในปี 2559 พบว่าบริษัท พลังอัศวิน จำกัด ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายปลีก ค้าส่งก๊าซ LPG ได้แจ้งยกเลิกการค้าไปแล้วเนื่องจากยอดขายลดลงต่อเนื่อง

โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ค้าก๊าซรายเล็กต่างประสบปัญหาขาดทุน นอกจากจะมาจากยอดขายก๊าซที่ลดลงแล้วยังมาจากการพยายามดึงลูกค้าด้วยกลยุทธ์ “ลดราคา” เพื่อแข่งขันทั้งในระดับผู้ค้าก๊าซรายเล็กด้วยกันแล้ว และยังต้องแข่งขันกับผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่ที่บริหารต้นทุนได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตามยังมีผู้ค้าก๊าซ LPG บางรายที่ยังคงทำกำไรในธุรกิจนี้คือ บริษัท ยูนิคแก๊ส จำกัด (ซึ่งมีบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 99) นอกจากนี้คือบริษัท แสงทองอุตสาหกรรมถังแก๊ส จำกัด และบริษัท พีเอพี แก๊ส แอนด์ ออยล์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีบริษัททาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่แม้จะไม่ได้ประสบปัญหาขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ส่วนของธุรกิจขายก๊าซลดลงถึงร้อยละ 18

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้ค้าก๊าซ LPG หลายราย ซึ่งระบุว่าจากความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งไม่มีการขยายตัว ทำให้ผู้ค้าก๊าซบางรายมองความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาทำตลาดก๊าซหุงต้ม

แต่ตลาดนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดถึงร้อยละ 48 รองลงมาคือ บริษัท สยามแก๊สฯ และยูนิคแก๊สที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 29.2 และส่วนที่เหลือร้อยละ 1.4 นั้น เป็นยอดขายรวมกันของผู้ค้ารายเล็ก เช่น บริษัท ออร์คิด แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พี เอ พี แก๊ส แอนด์ ออยล์ จำกัด และบริษัท เอ็นเอสแก๊ส แอลพีจี จำกัด ฉะนั้นการเข้ามาทำการตลาดก๊าซหุงต้มจึงค่อนข้างยาก และมีโอกาสที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่นอาจะหยุดทำตลาดค้าก๊าซ

สอดคล้องกับความเห็นของนางจิณตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามแก๊สฯ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดก๊าซหุงต้มมีผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ทำตลาดอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ค้าก๊าซรายใหม่จะเข้ามาทำตลาดนั้น ถือว่า “ยากมาก” เพราะต้องวางรากฐานลงทุนใน 2 ส่วนสำคัญ คือ จะต้องมีโรงบรรจุก๊าซและถังบรรจุก๊าซ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ยกตัวอย่างปัจจุบันสยามแก๊สฯ มีถังก๊าซในระบบรวมทั้งสิ้น 15 ล้านใบ ราคาอยู่ที่ 1,500 บาท/ใบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นถึง 25,500 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงและไม่สามารถลงทุนเพื่อเข้ามาทำตลาดในช่วงสั้น ๆ ได้แน่นอน

“ตลาดก๊าซหุงต้มที่ผ่านมาไม่ได้มีการแข่งขันที่หวือหวา เพราะแต่ละผู้ค้าก็มีลูกค้าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แม้ว่าการแข่งขันจะสูงมากขึ้น แต่สยามแก๊สฯมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ขายตัดราคาแน่นอน เพราะถ้าทำก็คงไม่ต่างกับตลาดภาคขนส่งที่เรียกได้ว่าทำการตลาดแบบพากันไปตาย”

สำหรับราคาก๊าซในตลาดโลกขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงขาลงอยู่ที่ระดับไม่เกิน 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน ถือเป็นช่วงเหมาะสมสำหรับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ

ราคา LPG ยังไม่ขยับ

ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG ในตลาดโลกล่าสุดเดือนสิงหาคม ยังยืนราคาที่320-330 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศยังไม่มีการปรับขึ้นภายหลังจากที่ภาครัฐประกาศเปิดเสรีธุรกิจก๊าซเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ

โดยนายชิษณุพงศ์ งามรุ่งโรจน์เจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซ LPG ระบุว่า ราคาก๊าซที่ยืนระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้ค้าก๊าซยังไม่มีการปรับราคาจำหน่ายสำหรับเดือนสิงหาคมแน่นอน โดยราคาหน้าสถานีบริการจะอยู่ที่ 12.90 บาท/ลิตร(หรือ 20.49 บาท/กิโลกรัม) ส่วนในบางพื้นที่การแข่งขันรุนแรงอาจจะมีการปรับลดราคา พร้อมทั้งโปรโมชั่น
ลด แลก แจก แถม โดยเฉลี่ยผู้ค้าก๊าซ LPG จะมีกำไร (MarketingMargin) อยู่ที่ 1-2 บาท/ลิตรอย่างไรก็ตามผู้ค้าก๊าซสนับสนุนให้ภาครัฐเปิดเสรีธุรกิจก๊าซอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ราคาสะท้อนราคาตลาดโลก

ทั้งนี้คาดว่าภายหลังจากเปิดเสรีแล้ว ผู้ค้ารายเล็กในตลาดอาจจะหายไปจากตลาดส่วนหนึ่งเพราะการแข่งขันที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคขนส่ง