ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. 2567 อยู่ที่ 56.0 ดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 8

นายวิทิตร รักษ์ธรรม

หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 56.0 ดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เนื่องจากประชาชนคลายความกังวลจากสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งการที่รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ขณะที่ ดัชนีหอการค้า เอกชนหวังรัฐออกมาตรการกระตุ้นศก.ปลายปี คาด 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น

นายวิทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 56.0 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.3 ในเดือนกันยายน 2567

ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เนื่องจากประชาชนคลายความกังวลจากสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งการที่รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยคล่องตัวขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 49.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 53.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.1 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนเช่นเดียวกัน แต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า

ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ แต่จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ

Advertisment

“ดัชนีฯ ทุกตัวปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ผู้บริโภคเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก จากที่การบริโภคเริ่มดีขึ้น เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตที่คาดว่าจะโดดเด่นขึ้นเป็นลำดับ ปัจจัยสำคัญเพราะคลายกังวลปัญหาน้ำท่วม และการได้รับเงิน 10,000 บ. ช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยคล่องตัวขึ้น”

เชื่อมั่นหอการค้า

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือน ต.ค.67 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 ต.ค.67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.9 ลดลงจากระดับ 49.4 ในเดือนก.ย. 67 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Advertisment

“เนื่องจากอิทธิพลของปัจจัยด้านลบยังมีมากกว่าปัจจัยด้านบวก ซึ่งภาคธุรกิจมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของหลายจังหวัด ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยวยังไม่โดดเด่น ขณะที่ภาคการเกษตร แม้สินค้าเกษตรจะมีราคาสูงขึ้น แต่เป็นเพราะผลผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วม ทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดลดลง”

การที่รัฐบาลแจกเงินหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบางนั้น อาจทำให้การบริโภคขยับขึ้นบ้าง แต่ผลจากมาตรการนี้ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณการค้าในหลายพื้นที่โดดเด่นได้มากนัก ขณะที่บางจังหวัดแม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง แต่การบริโภค และการจับจ่ายใช้สอย ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า

ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 48.8 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.1

ภาคกลาง อยู่ที่ 48.9 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.4

ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.8 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 52.1

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.0

ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.7 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.3

ภาคใต้ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.6

ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้ การกระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี , เร่งพิจารณามาตรการเสริมทักษะแรงงาน, เสริมศักยภาพให้แก่ SMEs, วางมาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง จนกระทบกับผู้ประกอบการในอนาคต และ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน