
“นภินทร” นัดหารือ 20 หน่วยงานร่วมแนวทางแก้ปัญหาสินค้าไร้คุณภาพจากต่างชาติ เปิด 3 รายการสินค้าที่จะเข้าดูแล พร้อมทำแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย พร้อมแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพจากต่างชาติที่ทะลักเข้าในไทย
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับ 20 หน่วยงานว่า ที่ประชุมได้กำหนดสินค้า 3 กลุ่มที่ไม่ได้คุณภาพ คือ สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม ที่ได้วิเคราะห์ถึงปัญหา และพร้อมที่จะหามาตรการเข้ามาดูแล อีกทั้งกำหนดแผนงานไว้ 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะระยะสั้นให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
อย่างไรก็ดี แผนงานทั้งหมดจะสรุปเพื่อที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ซึ่งมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
“จากนี้คณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) และชุดนี้ ก็จะมีการทำงานและพิจารณาทุก ๆ 1-3 เดือน และจะยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหา ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหา”
สำหรับการพิจารณาสินค้า 3 รายการที่ไม่ได้คุณภาพ จะมีการพิจารณาตรวจสอบ อย่างเช่น สินค้าเกษตร จะมีการตรวจสอบเรื่องสารปนเปื้อนเป็นอย่างไร มีความเข้มข้นมากแค่ไหน โดยจะตรวจสอบในเชิงลึก พร้อมลงไปในพื้นที่ปลูก เป็นต้น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะเข้าไปดูแลและเพิ่มมาตรฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า e-Commerce ซึ่งจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้มีการจดทะเบียนการค้าในประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถใช้ได้ช่วงต้นปี 2568 ซึ่งรอการประกาศอย่างชัดเจน
สำหรับ TEMU ได้เข้ามายื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในไทยแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กับกรมธุรกิจพัฒนาธุรกิจการค้า และต่อไปหากจะประกอบธุรกิจในประเทศไทย ก็จะเข้าสู่การพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น และประเภทธุรกิจ ภายใต้กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และก็จะต้องขออนุญาต ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในเรื่องของการประกอบธุรกิจขายตรง โดยจะดำเนินการกับทุกบริษัทแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาด้วย
“หลายอย่างจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุม และดำเนินการล่วงหน้า เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจการค้าด้วย”
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมจะมีการตรวจสอบมาตรฐาน ที่เข้าสู่ภายในประเทศ จะให้ความสำคัญและครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐาน มอก. ที่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มาตรฐานบังคับและมาตรฐานสมัครใจ ซึ่งจะให้ความเข้มข้นและครอบคลุมสินค้าให้หลากหลาย พร้อมทั้งขยายดูแลในทุกช่องทาง และการโฆษณาด้วย
นายนภินทรกล่าวอีกว่า ส่วนการกำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานของแผนงานต่าง ๆ ที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ กำหนดไว้ คือ 1) ระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้เห็นผลภายในสิ้นปี 2567 2) ระยะกลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศภายในปี 2568 และ 3) ระยะยาว เพื่อขยายตลาดและสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าไทย พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
ส่วนเรื่องการส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด มีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP จาก 35.2% ในปี 2566 เป็น 40% ภายในปี 2570 ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ในคณะอนุกรรมการ ได้วางแผนจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ งานแสดงสินค้า งานมหกรรมต่าง ๆ การสนับสนุนทุนและเครื่องมือในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนผลักดันผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการออกนิทรรศการในต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว
การประชุมหารือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและ SMEs ของไทยเป็นอย่างมาก และคาดหวังว่าการวางกรอบการดำเนินงานจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำ ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำตลาดของผู้ประกอบการไทย อีกทั้งการควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ช่วยให้สินค้าจาก SMEs ไทยได้รับความไว้วางใจและมีโอกาสในการขยายตลาดในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ SMEs ไทยในระยะยาว
การเดินหน้าทำงานเป็นผลมาจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศ ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย 5 มาตรการหลัก (63 แผนปฏิบัติการ) ซี่งประกอบด้วย 3 มาตรการในส่วนของการป้องกัน/กำกับดูแลสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและธุรกิจผิดกฎหมายได้แก่
1) การบังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้มข้น 2) การปรับปรุงกฎระเบียบ และ 3) มาตรการทางภาษี และส่วนของการส่งเสริมพัฒนาต่อยอด SMEs 2 มาตรการ ได้แก่ 1) การช่วยเหลือ SMEs ไทย และ 2) การสร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยในการติดตามผลและประเมินความคืบหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ