บทบรรณาธิการ : เป้าหมายใหม่ของไทยใน COP29

COP29
บทบรรณาธิการ

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 หรือ COP29 และการประชุมที่เกี่ยวข้องได้เริ่มต้นขึ้นแล้วที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ประเทศไทยในฐานะภาคีได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย

สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์ COP29 ด้วยการกำหนด 2 เสาหลัก ได้แก่ เสาที่ 1 การจัดทำนโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationality Determined Contribution : NDC) การจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan : NAP) และการจัดทำรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี (Biennial Transparency Report : BTR)

ในขณะที่ เสาที่ 2 ว่าด้วยกลไกการสนับสนุนการดำเนินงานด้วยการจัดทำ “เป้าหมายทางการเงินใหม่” หรือ New Collective Quantified Gold on Climate Finance : NCQG การยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมเป็นฉบับที่ 2 (NDC 3.0) โดยเป้าหมายทางการเงินใหม่ หรือ NCQG ถือเป็นเรื่องสำคัญ หลังความตกลงปารีส 2015 พบว่าการจัดสรรเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 100,000 ล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2020 เพื่อให้กับกลุ่มประเทศเปราะบางที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั้น “ไม่เข้าเป้า” และมีความต้องการใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า หรือ 500,000-1 ล้านล้านเหรียญต่อปีทีเดียว

ด้านประเทศไทยเองก็ได้กำหนดกรอบในการเจรจา COP29 ไว้อย่างกว้าง ๆ 5 ข้อ ที่สำคัญคือ การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NDC 2030 ซึ่งคาดว่าไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 43% จากเป้าหมาย 30-40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รายงานความคืบหน้า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับการประชุม COP28 ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดกันถึงการยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC 2035 จากเป้าหมายเดิมที่กำหนด (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43% ภายในปี 2030 และ 60% ในปี 2035)

จึงมีความจำเป็นที่คณะผู้แทนไทยจะต้องติดตามการเจรจาจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับที่ 2 (NDC 3.0) อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแผนปฏิบัติการของประเทศใหม่ รวมไปถึงสาระสำคัญของวัตถุประสงค์ในร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังอยู่ในกระบวนการออกกฎหมายฉบับใหม่ด้วย โดยประเทศไทยเองถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 170 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ