
ภาพรวมประเทศไทยบนเวทีระดับโลก หลังนายกฯ แพทองธาร พบปะเจรจาร่วมกับผู้นำและผู้บริหารบริษัทระดับโลกในการประชุมเอเปค 2024 นำเสนอแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจ โอกาส การเชื่อมโยง ระบบการเงิน สุขภาพ และเศรษฐกิจสีเขียว
ภาพรวมเอเปค 2024 ครั้งที่ 31 (APEC Economic Leaders’ Retreat) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2567 ที่ประเทศเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมงานอีกครั้งในฐานะ ‘ผู้นำประเทศ’ หลังจากเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมในบทบาทลูกสาวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ เมื่อปี 2547
‘ประชาชาติธุรกิจ‘ รวมทุกเรื่องที่ทำ-พูด ของนางสาวแพทองธารบนเวทีระดับโลกทั้ง 2 วันที่ผ่านมา
เจรจาผู้นำประเทศ
นายกฯ แพทองธาร พบปะนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ และหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู โดยตั้งเป้าหมายให้เสร็จภายในปีหน้า ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงไปแล้ว 70% ซึ่งเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใค ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก และสามารถเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในอนาคตได้อีกด้วย
ด้านการพูดคุยกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงความร่วมมือกันในปีหน้าที่ไทยและจีนจะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี โดยจีนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ และจีนยืนยันที่จะมอบหมีแพนด้ายักษ์มาประเทศไทยอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาประเทศของจีน ในการลดความยากจนในประเทศรวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ และได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวยินดีและยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online Scam ระหว่างกัน และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS ด้วย
คุยผู้บริหาร-ดึงลงทุนในไทย
นอกจากผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรียังได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก Google, TikTok และ Microsoft เพื่อหารือการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย โดยเน้นไปที่การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสำหรับการศึกษา, แรงงานในไทย และการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐ อาทิ
การพบปะนายชาร์ลส์ ริฟกิน ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐ (MPA) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำของสหรัฐ เพื่อเน้นย้ำถึงนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยแจ้งให้บริษัทด้านภาพยนตร์ของสหรัฐ ทราบถึงมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย
ที่ล่าสุดได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุดที่อัตราร้อยละ 30 และไม่กำหนดเพดานคืนเงินสูงสุดต่อโครงการ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริหาร โดยพร้อมที่จะส่งต่อข้อมูลสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทในเครือ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการจ้างงานและโอกาสของคนไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีการอัพเดตเรื่องของการลงทุนจากต่างชาติว่า ไทยกำลังรับเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างเม็ดเงินใหม่เข้าประเทศ ซึ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี AI Semiconductor และ Data Center พร้อมพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทระดับโลก ได้แก่ TikTok, Microsoft และ Google เพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อยอดให้มาลงทุนที่ประเทศไทย
และประกาศถึงความพร้อมของประเทศไทยด้านการลงทุนของต่างชาติ ให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดการลงทุนที่เดิมทั้ง 3 บริษัทมีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ให้หันมาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในรูปแบบ Data Center นั้น จะทำให้คนไทยเกิดอาชีพใหม่และการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองศักยภาพการเติบโตของ GDP ในประเทศ
ดังนั้นการหาแนวทางเพิ่มรายได้ใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศ เพื่อให้คนไทยมีอาชีพและรายได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ และไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินดิจิทัล 10,000 บาท, รายได้ใหม่ หรือซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้เกิดภาพรวมและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ
สปีชบนเวทีโลก
นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 3 แนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจต่อที่ประชุม APEC Economic Leaders’ Retreat ดังนี้
สร้าง “โอกาส” สำหรับทุกคน
รัฐบาลไทยกำลังพิจารณานำ Negative Income Tax ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด เนื่องจากในประเทศไทยยังพบว่ายังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งยังอยู่ในการทำงาน “นอกระบบ” และไทยดำเนินการแก้ไขเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานในระบบให้เติบโตในทุกมิติด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึง AI มาใช้เป็นกลไกสำคัญ
สำหรับสมาชิกเอเปค เห็นว่าควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนได้โดยง่าย และควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทาง สำหรับนักธุรกิจเอเปค ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้น
ส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาค
ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมที่จะสร้างเสริมความสามารถในประเทศสมาชิก รวมถึง MSMEs และกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อความยั่งยืนทางการค้า
ขณะเดียวกันการสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน จะเป็นพัฒนาการในโลกการเงินที่สมดุลมากขึ้น และช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน
ผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว
เล็งเห็นว่าเอเปคควรเร่งดำเนินการในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ (BCG) ซึ่งไทยได้ตั้งเป้าไว้ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด 20 จิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า และพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 ภายในปี 2608
ขอให้เอเปคนำทัพในการกำหนดเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนไปสู่ BCG ด้วยการผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อ “สร้างอนาคตที่ยั่งยืน” ร่วมกัน
โครงการ 30 บาท สู่ธุรกิจเวลเนส
นอกจากนี้นายกฯ ยังได้ยกประเด็นสุขภาพอย่างโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยสมัยที่แล้ว โดยใจความระบุว่า
รากฐานที่สำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ คือ ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และจะเป็นความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยภูมิใจที่สามารถบรรลุเป้าหมายและนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่าง “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” (Universal Health Coverage (UHC) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ในราคาไม่แพง แต่มากด้วยคุณภาพ และเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมสุขภาพ
ที่ผ่านมาไทย และเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ และเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างที่ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงภายในทศวรรษหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังในการพัฒนาประเทศลดน้อยลง รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบสุขภาพที่ดีถ้วนหน้า หรือ UHC เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน
ในเดือนที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ปรับปรุงนโยบายเมื่อ 22 ปีที่แล้วมาเป็นนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดมีความพร้อมที่จะดูแลรักษาประชาชน โดยกำหนดค่าใช้จ่ายไว้เหมือนเมื่อ 22 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลช่วยให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ กับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้บริการดูแลสุขภาพอย่างไร้รอยต่อในทุกสถานพยาบาล
นายกฯ เล่าย้อนกลับไป 21 ปีที่แล้ว ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2003 ขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รัฐบาลขณะนั้นจึงตั้งคณะทำงานเพื่อมาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว และได้เปลี่ยนมาเป็นคณะทำงานด้านสุขภาพภายใต้การทำงานของเอเปคที่ปัจจุบันมีภารกิจครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบสุขภาพที่มีความพร้อมอย่างรอบด้าน
และเมื่อปี 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพจัด APEC Health Week Policy Dialogue ที่กรุงเทพฯ และทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเปิดตัวโครงการ APEC Smart Family ซึ่งเป็นการทำงานด้านนโยบาย ในรูปแบบการเพิ่มปริมาณประชากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวทางประชากรในเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค เอเปคจึงมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจ
“การใช้ประโยชน์ของนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่เอเปคต้องนำมาใช้ช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่จะสนับสนุนให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดีและยืนยาว และขอสนับสนุนให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ รวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่อีกด้วย”
นอกจากนี้นายกฯ นำเสนอแนวคิดที่นำเอาความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะการดูแลสุขภาพ และความสมบูรณ์ของร่างกาย กลายมาเป็นธุรกิจ “เวลเนส“ (the Care and Wellness Economy) ซึ่งผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม
ซึ่งไทยพร้อมที่จะส่งเสริมและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์คุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ และต้นทุนที่ไม่สูงนัก ทำให้ประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
“รัฐบาลมอบหมายนโยบายกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยให้มีมาตรการทางภาษี และมาตรการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปค และสภาธุรกิจเอเปคมากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่น ๆ”