ปตท.พับโปรเจ็กต์ยักษ์โรงงาน EV แข่งดุจีนยึดสมรภูมิเบ็ดเสร็จ

ev

ปตท.ปรับพอร์ตลงทุน พับแผนโครงการร่วมทุนฟ็อกซ์คอนน์ตั้งโรงงานผลิต EV พื้นที่ EEC 350 ไร่ ชี้สมรภูมิแข่งขันราคารุนแรง เทรนด์อุตฯอีวีผันผวนสูง ตลาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ขณะที่ผู้ผลิตอีวีจีน บุกตั้งฐานผลิตในไทยต่อเนื่อง ไม่สอดรับแผนรับจ้างผลิตของ ปตท.

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานหลังจากที่นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์เมื่อ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ว่า ปตท.จะโฟกัสอยู่ที่ธุรกิจหลัก 2 ด้านคือ ธุรกิจก๊าซ กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization)

โดย ปตท.จะเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CCS และธุรกิจไฮโดรเจน พร้อมกับเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม รวมถึงการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม

ปตท.พับแผนโรงงาน EV

นอกจากนี้ นายคงกะพันยังกล่าวว่า กลุ่ม ปตท.จะมีการปรับพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจหลักเดิม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง คาดว่าจะมีความคืบหน้าในปี 2568 รวมถึงบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Life Science ธุรกิจใหม่ด้านยา เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ “ซึ่งเป็นการลงทุนที่ดี” และ ปตท.มีนโยบายให้สามารถจัดหาเงินทุนได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น จะมีการหาพันธมิตรเข้ามาเสริมธุรกิจหรือมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอนาคต

ส่วนการร่วมทุนกับ “ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป” เพื่อตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มฐานรถ EV ที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น “ปัจจุบันให้ยุติการก่อสร้างไปก่อน” โดย ปตท.อยู่ระหว่างเจรจากับฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เพื่อให้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจต่อ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญมากกว่า โดย ปตท.จะหันมาเน้นขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ในลักษณะซิงเกิลแบรนด์และปรับพอร์ตธุรกิจ “เราจะลดการลงทุนธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เน้นลงทุนในธุรกิจที่มีประโยชน์” นายคงกระพันกล่าว

แจงแข่งเดือด-จีนมาเอง

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า กลุ่ม ปตท.ได้ตัดสินใจชะลอการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์

ADVERTISMENT

เนื่องจากตลาดรถ EV จีนมีการแข่งขันราคารุนแรง และตลาดมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากช่วงที่มีการตัดสินใจตั้งโรงงานประกอบรถ EV ในประเทศไทย ประกอบกับปัจจุบันค่ายรถ EV จีนก็ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก

ดังนั้นแผนการที่ ปตท.จะตั้งโรงงานเพื่อเป็นฐานการรับจ้างผลิต (OEM) รถ EV ก็อาจไม่สอดรับกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป เพราะตลาดรถ EV ยังมีความไม่แน่นอน อุตสาหกรรม EV ทั่วโลกก็ยังมีปัญหา เพราะแม้กระทั่งตลาดรถ EV ในยุโรปก็ชะลอตัว และค่ายรถยุโรปหลายรายก็ปรับแผน เลื่อนแผนที่จะผลิตรถครอบคลุมทั้ง 100% ออกไป หลังความต้องการผู้บริโภคชะลอตัว “ในส่วนของโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ลงทุนอะไรมาก มีแค่การซื้อที่ดินร่วมกัน ซึ่งในส่วนของที่ดิน 350 ไร่ก็ถือว่ามีกำไร เพราะราคาที่ดินในพื้นที่ EEC ก็ปรับเพิ่มขึ้นและมีความต้องการสูง” ดร.บุรณินกล่าว

ADVERTISMENT

อนึ่ง โรงงานผลิตรถ EV อยู่ภายใต้บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) ซึ่งเป็นการร่วมทุนของบริษัท อรุณพลัส จำกัด ในเครือ ปตท. ในสัดส่วน 60% กับฟ็อกซ์คอนน์ 40% ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ CEO ปตท.ในขณะนั้น ได้มีการลงนาม MOU กับ กลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ (บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด) วางแผนดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในอาเซียน

และในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีกำหนดแล้วเสร็จและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 ด้วยกำลังผลิตเฟสแรกที่ 50,000 คัน/ปี

EV จีนปักฐานผลิตในไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาอีกว่า ปัจจุบันมีค่ายรถ EV จีนเลือกที่จะลงทุนและสร้างโรงงานในไทยเกือบ 10 ราย โดยรายล่าสุดที่ประกาศเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยคือ “JuneYao Auto” ในเครือ บริษัท จูนเหยา กรุ๊ป มีแผนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริม EV 3.5 และกำหนดก่อสร้างโรงงานประกอบในไทยตามแผนในช่วงปลายปี 2568

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) ก็ประกาศร่วมมือกับบริษัท คิงเจน จำกัด (มหาชน) KGEN ลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในไทย เพื่อผลิตรถ OMODA และ JAECOO งบฯลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568 มีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี

ขณะที่ก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์จีนที่มีการลงทุนไปแล้วอีกหลายราย ก็มีทั้ง BYD ที่ได้เปิดสายการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) จังหวัดระยองไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ผลิตรถ EV รุ่นแรกคือ บีวายดี ดอลฟิน (BYD Dolphin) ตามมาด้วยรถ BYD SEALION 6 รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด รวมทั้ง “ฉางอาน” มีแผนเริ่มผลิตรถ EV จากโรงงานประเทศไทยที่ จ.ระยอง ในช่วงต้นปี 2568 เช่นกัน โดยบริษัทมีการลงทุนกว่า 8,800 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ครบวงจรแห่งแรกนอกประเทศจีน

เช่นเดียวกับ “เอ็มจี” โดยบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้เปิดโรงงานแห่งใหม่บนเนื้อที่ 437.5 ไร่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (ชลบุรี) นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” เข้ามาตั้งโรงงานและเดินเครื่องผลิตรถ EV ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2567 ใช้เงินลงทุน 22,000 ล้านบาท มีกำลังผลิตรถต่อปีราว 100,000 คันต่อปี และยังมีแบรนด์ GAC ซึ่งมีรถ EV Aion ก็ประกาศลงทุนเฟสแรก 6,000 ล้านบาท กำลังการผลิตรถ 20,000 คัน และแบรนด์ “วูหลิง” ลงทุนราว 200 ล้านบาท กำลังการผลิตรถ EV อยู่ที่ 6,000 คันต่อปี

ขณะที่ NETA รถ EV จีนถือเป็นเจ้าเดียวที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 ของรัฐบาลไทย และใช้วิธีจ้างประกอบ โดยจ้างโรงงานบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ในเครือ PNA ผลิตรถ “เนต้า วีทู” อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมาปิดดีลกับโรงงานบางชัน ทางเนต้าก็ได้เคยเข้าไปเจรจากับทางกลุ่ม ปตท. แต่เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลว่า โรงงานยังไม่มีความคืบหน้า “จึงได้หาผู้ผลิตรายใหม่”

ปีกทอง คว้า CEO คนใหม่โออาร์

ส่วนการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อแทนนายดิษทัต ปันยารชุน ที่จะเกษียณอายุครบ 60 ปีในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ล่าสุด ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ในฐานะประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน กล่าวว่า กระบวนการสรรหาได้เสร็จสิ้นแล้ว โดย ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการสรรหาได้แจ้งให้บอร์ด OR เพื่อทราบเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการต่อรองเพื่อค่าตอบแทน และแจ้งให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รับทราบ และกำหนดวันเริ่มงานอีกครั้ง

ด้าน ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ ให้สัมภาษณ์ว่า แน่นอนว่า บริษัทแม่อย่าง ปตท. ก็ต้องการให้บริษัทลูกดำเนินตามวิสัยทัศน์และทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ผู้บริหาร ปตท. ที่จะเข้าสมัครคัดเลือก CEO OR เพื่อที่จะดำเนินการให้ OR เป็นไปตามวิชั่นเดียวกับ ปตท. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนโยบายและแผนการดำเนินงานของ OR “ถูกต้องและดีอยู่แล้ว” เมื่อคนใหม่เข้ามาก็เพียงแค่เข้าไปต่อยอดจากของเดิมใน 3 เสาหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobility หรือธุรกิจขายน้ำมัน เรื่อง Lifestyle ธุรกิจคาเฟ่อเมซอน และร้านค้าในสถานีบริการ และเรื่อง Global Market หรือธุรกิจในต่างประเทศ

ส่วนการขยายไปต่างประเทศภายใต้นโยบาย Second Home International คงไม่ไกลมาก โดยจะเน้นการขยายธุรกิจในภูมิภาค อย่างเช่น การลงทุนในกัมพูชา เพราะระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อได้ดีผ่านทางท่าเรือมาบตาพุด ในขณะที่เมียนมานั้นอาจจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป ส่วนที่ สปป.ลาวยังพอไปได้ แต่ที่เวียดนามยังมีโอกาสเพิ่มเติม เนื่องจากเส้นทางโลจิสติกส์เอื้ออำนวย ซึ่งตอนนี้เราประสบความสำเร็จแล้วกับ “คาเฟ่อเมซอน” หน้าที่ต่อไปก็คือ การออกไปหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เป้าหมายในพื้นที่ใหม่ ๆ ในภูมิภาค ซึ่งมันต้องมีจุดเด่นด้าน Quick Win