ชงครม.ไฟเขียวงบ3,300ล้าน ชดเชยดอกเบี้ย-ช่วยเกษตรกรน้ำท่วม

นบข.ชง ครม.เคาะวงเงินช่วยเหลือข้าวนาปี 60/61 รวม 1,300 ล้านบาท บิ๊กฉัตรเล็งชง ครม.เคาะงบฯ 2,000 ล้านเยียวยาเกษตรกร 5.7 แสนครัวเรือน ข้าวเสียหาย 4.7 ล้านไร่ กรมชลฯเตือน 4-6 ส.ค.จับตา 35 จ. เจอฝนระลอกใหม่หวั่นซ้ำเติมสกลนคร-กาฬสินธุ์

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2560/2561 โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินสำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม สถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท เป้าหมายปริมาณ 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งคิดเป็นวงเงินงบประมาณ 406.25 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ย 3% 375 ล้านบาท ค่าประกันภัยและค่าบริหารจัดการโครงการ 31.25 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค. 60-30 ก.ย. 61

และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในการเก็บสต๊อก วงเงินดำเนินการ 940 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย 937.50 ล้านบาท เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว 577.50 ล้านบาท ข้าวเจ้า 360 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ 2.50 ล้านบาท เป้าหมายปริมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก ให้รับซื้อตั้งแต่ 1 พ.ย. 60-30 ก.ย. 61 และเก็บสต๊อก 1 พ.ย.-31 มี.ค. 61

ส่วนโครงการสินเชื่อเกษตรกร เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือภาคเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อย (ฝากในยุ้งฉาง) นบข.อนุมัติในหลักการเช่นเดียวกับปี 2559/2560 แต่ยังไม่ได้อนุมัติวงเงิน เพราะต้องรอกระทรวงเกษตรฯสรุปความเสียหายของยุ้งฉางและพื้นที่ปลูกหลังน้ำลด ซึ่งล่าสุดขณะนี้ผลเสียหายจากน้ำท่วม 4.7 ล้านไร่หรือ 1.5-2 ล้านตัน คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยหลักเกณฑ์เดิมจะกำหนดราคา 90% ของราคาตลาดเฉลี่ย ซึ่งคาดว่าจะได้ราคาสูงกว่าปีก่อนตามราคาตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้น และกำหนดค่าใช้จ่ายขึ้นยุ้งตันละ 1,000 บาท ค่าเก็บฝากตันละ 500 บาท ค่าเก็บเกี่ยวครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท รวมเกษตรกรได้รับตันละ 14,000 บาท

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ส.ค.นี้ กระทรวงเกษตรฯจะของบฯกลาง 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ถึงปัจจุบัน รวม 35 จังหวัด 5.7 แสนครัวเรือน โดยจะชดเชยครัวเรือนละ 3,000 บาท ให้เกษตรกรนำไปใช้จ่ายในช่วงที่เกิดอุทกภัย

ขณะเดียวกันยังสั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และเร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

“ในวันที่ 7 ส.ค.นี้จะทราบจำนวนเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างชัดเจน แต่วงเงินช่วยเหลือคาดว่าจะไม่เกินนี้ ซึ่งจะใช้เป็นงบฯกลางทั้งหมด ให้บรรเทาทุกข์ของเกษตรกรไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อทราบความเสียหายอย่างสิ้นเชิงก็จะช่วยเหลือทางมาตรการทางการคลังอีกครั้ง ในขณะที่ได้สั่งการให้กรมการข้าวหาเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกใหม่ในพื้นที่ที่ยังพอจะปลูกได้ทันกับช่วงแสง”

ทางด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า ล่าสุด (4 ส.ค.) ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ห้วงระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.นี้ กรมได้แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนตาลัสและหย่อมความกดอากาศต่ำ ค่อนข้างแรงจากพายุโซนร้อนเซินกา ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเกิดฝนตกหนักใน 35 จังหวัด บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยเฉพาะยังเป็นพื้นที่เดิมคือ จ.กาฬสินธุ์และสกลนคร ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง โดยให้เร่งระบายน้ำ เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตลอด 24 ชม.