“จีน-เวียดนาม” บุกปลูกทุเรียนในลาว สัมปทานแสนไร่ เริ่มขายปี’68

durian
จตุรงค์ บุนนาค

ตะลึง ! จีน-เวียดนาม-มาเลย์ แห่ขอสัมปทานปลูกทุเรียนในลาว กินพื้นที่กว่า 1.25 แสนไร่แล้ว ทั้ง “สามเหลี่ยมทองคำ-จำปาสัก” ทูตพาณิชย์เผยส่วนใหญ่หมอนทอง คาดผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดปี’68 ห่วงอีก 5-6 ปีกระทบส่งออกทุเรียนไทย แถมได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ เอกชนชี้ต้องเร่งยกระดับทำทุเรียนพรีเมี่ยม เสี่ยงเสียแชมป์ส่งออกไปจีน

ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว มีการให้สัมปทานพื้นที่สำหรับปลูกทุเรียนแก่บริษัทต่างชาติมาแล้วหลายปี เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ซึ่งในช่วงปี 2564-2569 รัฐบาลลาวกำหนดเป้าหมายการส่งออกสินค้าเกษตร 9 ชนิดไปยังจีน ตั้งเป้ามูลค่ารวมประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย น้ำตาล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วเหลือง มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง ถั่วลิสง เนื้อโคแช่แข็งและตากแห้ง และทุเรียน

ตามข้อมูลที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว รายงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ระบุว่า ในการประชุมหารือระหว่างสมาคมธุรกิจการเกษตรลาว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว

นายเอลาวัลย์ ลาดปากดี ตัวแทนสมาคมปลูกทุเรียนลาวกล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกในสมาคมแล้ว 170 แห่ง มีพื้นที่รวม 20,000 เฮกตาร์ (125,000 ไร่) ในจำนวนนี้มีต้นที่เก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 10,000 ต้น มีผลผลิตประมาณ 900 ตัน เป้าหมายการผลิตในปี 2572 คือการเก็บเกี่ยวประมาณ 270,000 ต้น โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ 24,300 ตัน มูลค่า 155.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนบริษัทจีนที่ได้สัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกทุเรียนในลาวคือ เจียรุ่น (Jiarun) บริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ได้สัมปทานพื้นที่ 5,000 เฮกตาร์ (31,250 ไร่) ในแขวงอัตตะปือ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเซ็นทรัลพาร์กในนครนิวยอร์กถึง 15 เท่า

จากข้อมูลสมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA) ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก การบริโภคทุเรียนของจีนในปี 2566 คิดเป็น 91% ของการบริโภคทุเรียนทั้งหมดของโลก การนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นจาก 430,000 ตัน และมูลค่าการนำเข้า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 เป็น 1.42 ล้านตัน และมูลค่าการนำเข้า 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566

ADVERTISMENT

สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2567 จีนนำเข้าทุเรียนสด 1.38 ล้านตัน มูลค่าการนำเข้า 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% และ 5.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ตามลำดับ และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเกือบ 618,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 2,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 72.2% และ 57.3% (YOY) ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 44% ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเป็นซัพพลายเออร์ทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีนมีปริมาณการนำเข้าจากไทยเกือบ 755,000 ตัน มูลค่าการนำเข้า 3,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การนำเข้าจากไทยลดลงทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า -14.1% และ -13.3% (YOY) ตามลำดับ

ADVERTISMENT

ปลูกแบบสัมปทานเน้นหมอนทอง

นายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว (ทูตพาณิชย์) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสำนักงานติดตามการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศใน สปป.ลาว โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มสินค้าเกษตรตั้งแต่ปี 2564

โดยในช่วงเวลานั้นมีนักลงทุนจากประเทศจีน เวียดนาม รวมไปถึงมาเลเซียเข้ามาลงทุนปลูกทุเรียนใน สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาขอสัมปทานจากรัฐบาลและขอสัมปทานจากแขวงต่าง ๆ ใน สปป.ลาว ซึ่งมีทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้กระจายไปทั่วประเทศ คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในปี 2568 นี้

“การเข้ามาลงทุนปลูกทุเรียนของนักลงทุนต่างชาติในลาวเป็นการขอสัมปทาน จึงทำให้ไม่สามารถระบุรายละเอียด เงื่อนไข พื้นที่ และผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่มีข้อมูลสู่สาธารณะ แต่ยอมรับว่ามีการปลูกทุเรียนหลายร้อยเฮกตาร์ และส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง”

ห่วงอนาคตกระทบส่งออกไทย

ทั้งนี้ จากที่รับรู้ข้อมูลจะมีในพื้นที่ เช่น สามเหลี่ยมทองคำ แขวงบ่อลิคำไซ จำปาสัก เป็นต้น โดยคาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในปีหน้า แต่ยังไม่สามารถประเมินปริมาณได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นยังไม่น่ากังวล เพราะมองว่าผลผลิตที่ออกมาจะยังไม่สามารถทดแทนผลผลิตทุเรียนจากไทย โดยทุเรียนของไทยยังมีคุณภาพและได้มาตรฐานการส่งออกเป็นที่ยอมรับในตลาดจีน และจากการติดตามข้อมูล จีนยังไม่ได้พิจารณาอนุญาตนำเข้าทุเรียนจาก สปป.ลาว และในอดีตลาวไม่เคยส่งออกทุเรียน

แต่ในอนาคตหากมีการยกระดับ พัฒนาคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐานจะทำให้ทุเรียนลาวส่งออกไปจีนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย และจะมีผลทำให้ราคาทุเรียนถูกลง

แต่ระหว่างนี้สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด คือการนำทุเรียนไทยไปสวมสิทธิเป็นทุเรียนของลาวเพื่อส่งออกเข้าตลาดจีน และในอีก 5-6 ปีข้างหน้าปริมาณผลผลิตทุเรียนในลาวจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน และลาวยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการขนส่งที่ถูก เนื่องจากลาวมีชายแดนติดกับจีน และรวมไปถึงปัจจัยต้นทุนการเพาะปลูกที่ถูกกว่ามาก เพราะเชื่อว่านักลงทุนจีนจะนำนวัตกรรม การบริหารจัดการ เข้ามายกระดับการปลูกทุเรียนในลาวที่จะทำให้มีศักยภาพการแข่งขันดีขึ้น

แนะไทยแข่งทำทุเรียนพรีเมี่ยม

นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า การเข้ามาขอสัมปทานการปลูกทุเรียนของนักลงทุนจีน เวียดนาม คาดว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปในตลาดจีน แม้ในระยะสั้น จากการติดตามผลผลิต คาดว่าจะยังไม่ได้คุณภาพที่จะส่งออกไปต่างประเทศนั้น แต่มั่นใจว่านักลงทุนจีนจะเร่งพัฒนา ปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อส่งออกเข้าตลาดจีนให้ได้

นอกจากนี้ บางพื้นที่ในลาว อย่างเช่น แขวงจำปาสัก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และคาดว่าการปลูกทุเรียนจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด

นอกจากนี้ ลาวมีชายแดนติดกับจีน มีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนจากลาวไปจีนได้เร็วขึ้นและต้นทุนถูกกว่าไทย ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาและยกระดับคือ การทำให้สินค้าไทยเป็นสินค้าพรีเมี่ยม เพราะหากจะแข่งขันด้านปริมาณในอนาคต ไทยอาจจะแข่งขันไม่ได้ จึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

รวมไปถึงการลดต้นทุนการเพาะปลูกและลดต้นทุนการขนส่ง เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันได้ รวมไปถึงการเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น อินเดีย ศรีลังกา

รัฐบาลต้องช่วยโปรโมตทุเรียน

นายภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทยและอดีตนายกสมาคมทุเรียนไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการปลูกทุเรียนใน สปป.ลาวจำนวนมหาศาล ขณะนี้ผลผลิตยังไม่ออกสู่ตลาด ต้องดูความคุ้มทุนในช่วงที่มีผลผลิตออก วงจรทุเรียนเป็นพืชเกษตรมีปริมาณมากราคาถูกลง การดัมพ์ราคาแข่งขันกันมีข้อจำกัดหลายด้าน การปลูกทุเรียนในพื้นที่ขนาดใหญ่ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนของทุเรียนไทยจำเป็นต้องปรับตัวในปัจจัยหลักสำคัญ 2 เรื่องคือ การทำคุณภาพ โดยให้ความรู้และพัฒนาการผลิต และการช่วยโปรโมตทุเรียนไทยจากรัฐบาลไทย เพื่อแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่มีเพิ่มขึ้น

“การปลูกทุเรียนมีข้อจำกัดมาก ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ และการดูแล พื้นที่ปลูกมากไม่ใช่จะได้ผลผลิตมากเสมอไป อย่างเวียดนามเองได้เปรียบทั้งค่าแรงงานถูกและการขนส่งที่รวดเร็ว แต่ยังประสบปัญหาพายุรุนแรง หรือพื้นที่ของไทยบางจังหวัดปลูกทุเรียนได้ผลผลิต 100 กก./ไร่ แต่ในโซนภาคตะวันออก ภาคใต้ ได้ผลผลิต 2 ตัน/ไร่ ซึ่งต้นทุนในการผลิตแตกต่างกันตามพื้นที่” นายภานุศักดิ์กล่าว

เสี่ยงเสียตลาด 60% ให้ลาว-เวียดนาม

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และในฐานะที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเจอความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาดส่งออกทุเรียน เพราะปัจจุบันพบว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากขึ้น และมีนักลงทุนเข้าไปปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเวียดนาม รัฐบาลให้ทุเรียนเป็นวาระแห่งชาติ เป้าหมาย 3-4 ปีจะมีผลผลิตใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีผลผลิตเฉลี่ยต่อปี 1.4-1.5 ล้านตัน

ขณะนี้ทุนจีน ทุนมาเลเซีย มีการเข้าไปลงทุนปลูกทุเรียนในลาว กัมพูชามากขึ้น และยังประกอบกับต้นทุนการเพาะปลูก การผลิตถูกกว่าประเทศไทย บางพื้นที่น้ำดี ดินเหมาะสม มีผลทำให้ผลผลิตทุเรียนดี และประเทศดังกล่าวยังมีข้อได้เปรียบเรื่องสิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเข้าจีนอีก นอกจากนี้ เงินลงทุนยังมีปริมาณสูง มีผลต่อการบริหารจัดการที่จะทำให้การแข่งขันของไทยในตลาดทุเรียนลำบาก

“เวียดนามผลผลิตต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9 แสนตัน ลาวผลผลิตทุเรียนยังต่ำกว่า 5 แสนตัน แต่ในอนาคตไม่เกิน 5 ปีปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้น และจะมีโอกาสทำให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนลดลง จากปัจจุบันมีปริมาณ 80% มีโอกาสที่จะถูกดึงส่วนแบ่งเหลือเพียง 60% ให้กับลาว เวียดนาม และประเทศอื่นได้”

ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกทุเรียนของไทยไปตลาดจีนมีประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี อนาคตมีโอกาสที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่ง และมีโอกาสที่ราคาทุเรียนของไทยในตลาดจีนลดลง จากปัจจุบันเฉลี่ยขายอยู่ที่ 350-400 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนของเวียดนามถูกกว่าไทย 30% เฉลี่ยราคา 300 บาทต่อกิโลกรัม