กรมวิชาการเกษตรสั่ง สวพ. 7 ผนึกด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทุเรียนสวมสิทธิ DOA และ GAP
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) ว่าได้รับแจ้งจากในพื้นที่จังหวัดชุมพร ในตลาดเลิศพร 2 มีการคัดบรรจุทุเรียนในพื้นที่ของโรงคัดบรรจุที่ถูกระงับการส่งออก เนื่องจากมีการปนเปื้อนแคดเมียม จึงได้มอบหมายนายอุดมพร เสือมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนา การเกษตรระนอง นายสมชาย มณีโชติ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน พร้อมด้วยนางสาววัชรี วิทยวรรณกุล หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง ลงพื้นที่ร่วมกับเกษตรจังหวัดชุมพร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ พบโรงคัดบรรจุดังกล่าวมีพื้นที่ติดกันแบ่งเป็น 2 สาขาคือ สาขา 4 และ สาขา 6 (สาขา 6 ถูกระงับส่งออก) ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนมีทุเรียนคัดบรรจุกล่องเรียบร้อยวางอยู่ และมีบางส่วนบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์พร้อมส่งออก เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจสอบสติ๊กเกอร์ขั้วและสติ๊กเกอร์ข้างกล่อง พบว่ามีการใช้เลขทะเบียน DOA สถานที่อื่น ๆ แต่เจ้าของโรงคัดบรรจุอ้างว่านำทุเรียนไปขายห้องเย็น จึงได้อายัดทุเรียนไว้เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม พร้อมเตรียมดำเนินการยกเลิกทะเบียน DOA ดังกล่าว
วันที่ 5 ธันวาคม 2567 เจ้าหน้าที่ สวพ.7 และด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง ได้เข้าตรวจโรงคัดบรรจุอีกครั้ง จากการทวนสอบข้อมูลการใช้ GAP ข้างกล่องเป็นของพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เมื่อทวนสอบไปยังเกษตรกรพบว่าเกษตรกรไม่มีการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนแต่อย่างใด จึงให้เกษตรกรดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี และ สวพ.7 เตรียมดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับโรงคัดบรรจุดังกล่าว โดยทางโรงคัดบรรจุแจ้งว่าซื้อมาจากอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่ง สวพ.7 อยู่ระหว่างทวนสอบไปยังเกษตรกรและเกษตรอำเภอในพื้นที่
และสุ่มตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง พบว่ามีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในทุเรียนหมอนทองและจะสุ่มทุเรียนเพื่อส่งวิเคราะห์การปนเปื้อนแคดเมียมต่อไป จากการติดตามการขนย้ายทุเรียนดังกล่าว พบว่านำมาขายบริษัทห้องเย็นจริง ไม่ได้มีการนำไปส่งออก
“หากผู้ประกอบการกระทำผิดกรมวิชาการเกษตรจะออกคำสั่ง “ระงับหรือยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช ทะเบียน DOA” (ระงับล้งที่กระทำความผิด) ซึ่งเป็นการนำการขึ้นทะเบียนไปใช้หรืออ้างอิงในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับ
การขึ้นทะเบียนนั้น ๆ ปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อ 7.3 ของประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2567 และขอเน้นย้ำให้เกษตรกรเก็บรักษาใบ GAP ซึ่งมีค่าไว้อย่าให้ใครนำมาใช้สวมสิทธิโดยเด็ดขาด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว