ส่งออกทอง ต.ค. 67 พุ่งแรงถึง 169.31% เหตุส่งไปเก็งกำไร

ราคาทองคำ

จีไอที เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ต.ค. 67 มูลค่า 735.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 1.77% รวมทองคำมูลค่า 2,966.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 88.14% เฉพาะส่งออกทองพุ่งถึง 169.31% เหตุส่งไปเก็งกำไร หลังราคาทำนิวไฮใหม่อีกครั้ง คาด 2 เดือนสุดท้ายยังส่งออกได้ดี

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำเดือน ต.ค. 2567 มีมูลค่า 735.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.77% กลับมาติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำมีมูลค่า 2,966.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 88.14% ส่วนยอดรวม 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำมีมูลค่า 7,788.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.35% หากรวมทองคำมูลค่า 15,415.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.32%

สำหรับการส่งออกทองคำเดือน ต.ค. 2567 มูลค่าสูงถึง 2,231.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 169.31% เนื่องจากราคาทองคำในเดือน ต.ค.ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,777.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความกังวลในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น ทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการเก็งกำไรทองคำอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับกองทุนทองคำ SPDR ที่มีการซื้อทองคำต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 10 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 7,626.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 43.53% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39% มิ.ย. 544.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 184.12% ก.ค. 1,180.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 434.13% ส.ค. 455.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 99.01% ก.ย. 741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.99%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกงเพิ่ม 7.51% สหรัฐเพิ่ม 13.71% อินเดียเพิ่ม 33.27% เยอรมนีเพิ่ม 13.29% อิตาลีเพิ่ม 3.59% เบลเยียมเพิ่ม 25.55% ญี่ปุ่นเพิ่ม 3.78% ส่วนสหราชอาณาจักรลด 6.87% สวิตเซอร์แลนด์ลด 6.52% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลด 10.89%

ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทองเพิ่ม 3.74% เครื่องประดับเงินเพิ่ม 19.24% เครื่องประดับแพลทินัมเพิ่ม 6.14% พลอยก้อนเพิ่ม 54.41% พลอยเนื้อแข็งเจียระไนเพิ่ม 4.81% ซึ่งในกลุ่มพลอยยังคงเป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียมเพิ่ม 5.30% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติเพิ่ม 29.99% ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนลด 0.18% เพชรก้อนลด 14.42% และเพชรเจียระไนลด 5.05%

ADVERTISMENT

นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือ คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดี เพราะขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน และอัตราว่างงานลดลง อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลดลง ทำให้ลดภาระครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายมากขึ้น และช่วงเดือน ธ.ค.ยังเป็นช่วงคริสมาสต์และส่งท้ายปีเก่า เป็นช่วงที่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากกว่าปกติ โดยอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าที่ซื้อเป็นของฝากของขวัญ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของผู้นำสหรัฐเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง จากแนวนโยบายการใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อกดดันประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐในลำดับต้น ๆ อย่างจีน แคนาดา เม็กซิโก และเวียดนาม ทั้งยังอาจขยายไปยังลำดับรองลงมา เช่น ไทย ที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังไม่คลี่คลาย ก็เป็นปัจจัยกระทบต่อการส่งออกในบางประเทศได้

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ GIT มีข้อแนะนำให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตเครื่องประดับอัจฉริยะหรือสมาร์ทจิวเวลรี่ เพราะทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราก้าวกระโดด โดยล่าสุดบริษัทที่เป็นแบรนด์เครื่องประดับและแบรนด์เทคโนโลยีขยายไลน์สินค้าเข้าสู่ตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น เช่น ซัมซุงเปิดตัว Galaxy Ring ที่สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วิเคราะห์การนอนหลับ

ซึ่งตัวแหวนผลิตจากไทเทเนียม หรือแบรนด์เครื่องประดับอื่น ๆ ที่ผลิตเป็นสร้อยคอ หรือสร้อยข้อมือ ผสมผสานเข้ากับการตรวจจับสุขภาพหรือเพื่อความปลอดภัย ซึ่งแนวโน้มเครื่องประดับรูปแบบนี้ ตอบโจทย์ทั้งความสวยงามแบบเครื่องประดับและเทคโนโลยีที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งฝั่งสหรัฐ ยุโรป หรือเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการเจาะตลาดด้วยการผสมผสานความงามของเครื่องประดับและเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ และสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว