“บิ๊กตู่”เร่งเปิดเสรี RCEP รับ TrilateralHighway สายใหม่

นายกฯ ตู่ หนุนผนึก RCEP ยกระดับการค้า เชื่อมโยงภูมิภาคผ่านทางหลวง “Trilateral Highway” เชื่อมโยงอินเดีย-เมียนมา-ไทย ด้านพาณิชย์ ล็อบบี้ รมต.ศก. ปลดล็อกลดภาษีสินค้า 92% RCEP หนุนเอกชนใช้ประโยชน์จากระบบภาษีเดียว GST

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษว่า ในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน ASEAN-India Expo and Forum ว่า อาเซียน-อินเดียควรผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ข้อสรุปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ เพื่อผนึกกำลังกันสร้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

“เดิมประชาคมอาเซียนรวมกลุ่มมีประชากร 630 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากรโลก มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 6 ของโลก แต่หากรวมอินเดียซึ่งมีประชากร 1,324 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และมีมูลค่าเศรษฐกิจ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 7 ของโลกจะทำให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นในภูมิภาค โดยดึงศักยภาพสมาชิกมาสร้างความเจริญเติบโตร่วมกัน โดยเร่งพัฒนาเสริมสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน คือ การพัฒนาภาครัฐดิจิทัล นวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาคเกษตร ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSMEs) และการพัฒนาคุณภาพคน”

ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ คือ การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยการคมนาคมขนส่ง โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้มีการหารือกับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอินเดีย ถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง “Trilateral Highway” ซึ่งเป็นทางหลวงเชื่อมต่อ 3 ประเทศ ระหว่างเมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระ อินเดีย-มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา และ อ.แม่สอด จ.ตาก (ระยะทาง 3,200 กม.) เชื่อมโยงไปยังกัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมถึงพัฒนา Mekong – India Economic Corridor เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขงกับอินเดียฝั่งตะวันออกเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งสนับสนุนการเปิดน่านฟ้าเสรีกับอาเซียนด้วย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลไทยพยายามขอให้อินเดียยกระดับจุดผ่อนปรนให้เป็นด่านถาวร เพื่อเตรียมใช้ประโยชน์ เพราะขณะนี้ถนนที่ฝ่ายไทยให้การสนับสนุนมีความพร้อมแล้ว เหลือถนนฝั่งอินเดียเท่านั้นซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จประมาณปลายปี 2561

นางนิรมลา สิตารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย ระบุว่า รัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคตามโครงการ Trilateral Highway เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ตามนโยบายเศรษฐกิจมองตะวันออก (Look East) ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนผ่านสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย (AIBC) และขอให้อาเซียนทบทวนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-อินเดีย ขยายการเปิดตลาดสินค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า และปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าระหว่างกัน

ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้โอกาสนี้ในการหารือนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย เพื่อผลักดันการเจรจา RCEP ก่อนจะสรุปเสนอที่ประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ในเดือนพฤศจิกายนนี้

“โอกาสในการค้าระหว่างไทย-อินเดียยังมีอีกมาก เพราะเส้นทางหลวงเชื่อมต่อระหว่างประเทศมีความคืบหน้าไปอย่างมาก อีกทั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 อินเดียมีการปรับกฎหมายเรื่องการจัดเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ (GST) จากเดิมที่มีการเรียกเก็บภาษีในอัตราแตกต่างกันเป็นปัญหากับผู้ประกอบการ ประเด็นนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น”

แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้การเจรจาความตกลง RCEP ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่สมดุลตามที่หลายประเทศเสนอมาได้ เพราะสมาชิกอาเซียนมีความคาดหวังว่าจะเปิดตลาดลดภาษี 0% ในสินค้า 92% จากรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทั้งหมด แต่สมาชิก RCEP บางประเทศต้องการเปิดตลาดในระดับที่ต่ำกว่านั้น มีบางประเทศเสนอเปิดตลาดเพียง 70-80% เนื่องจากแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เท่ากัน และบางประเทศยังไม่เคยมีการเจรจาเอฟทีเอทวิภาคีระหว่างกันมาก่อน เช่น จีน-อินเดีย หรือ จีน-ญี่ปุ่น จึงมีประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเด็นเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพเสรีที่ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งอาจทำให้ RCEP ต้องเลื่อนเป้าหมายอีกครั้งจากเดิมที่เคยเลื่อนมาแล้ว 1 ครั้งในปี 2559