รัฐรื้อโครงสร้างดัชนี MPI รับ10S-Curve เป้าหมาย

สศอ.เตรียมปรับโครงสร้างการจัดทำดัชนี MPI รองรับผลิตภัณฑ์ใหม่จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง สศอ.กำลังจัดทำแนวทางการพัฒนาข้อมูลในด้านอุตสาหกรรม โดยวางแผนที่จะบรรจุผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เข้ามาคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจ ให้มีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตอย่างเหมาะสม เพื่อสะท้อนภาคเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องและทันสมัย ทั้งนี้ ในการปรับปรุงประจำปีที่ผ่านมาได้นำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ เข้ามาคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมแล้ว และมีแผนงานขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในรอบการปรับปรุงครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมในยุค 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งมีนัยถึงระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ต่างไปจากเดิม ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอยู่อย่างสม่ำเสมอ

สศอ.จึงตั้งเป้าหมายในการพัฒนาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้มีความครอบคลุมไปสู่หมวดต่าง ๆ นอกเหนือจากภาคการผลิต (หมวด C) ตามมาตรฐานการจัดหมวดหมู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) โดยจะเริ่มที่หมวดไฟฟ้า ก๊าซ อากาศ (หมวด D) เพื่อให้ได้ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีความถูกต้อง ครอบคลุม และครบถ้วนจากผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ดัชนีเป็นเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจที่ทรงประสิทธิภาพ ทั้งในระดับมหภาคและอุตสาหกรรมรายสาขา เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

รวมถึงเป็นส่วนประกอบในการวางแผนและเสนอนโยบายด้านอุตสาหกรรมต่อรัฐบาล ในการสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ ทั้งนี้ สศอ.ได้เริ่มเดินหน้าแผนพัฒนาดังกล่าวผ่านการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเป็นรายเดือนร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำแนวทางการพัฒนาข้อมูลในด้านอุตสาหกรรมทางสศอ.ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้ทำการจัดเสวนาโดยมี

ผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ อาทิ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าร่วมหารือในประเด็นดังกล่าวด้วย