7 สมาคมขอเอี่ยวรถไฟจีน ล็อบบี้รัฐใช้ “เหล็กเส้นไทย”

7 สมาคมโรงงานเหล็กไทย วิ่งพบ “คมนาคม-คลัง” ขอเอี่ยวขายเหล็กเส้น-ข้ออ้อย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หวั่นจีนล็อกสเป็กตีกันเหล็กไทย ช่วงแรก “กลางดง-โคราช” ใช้แต่เหล็กจีน ด้าน สมอ.ชี้หากเป็นมาตรฐานจีนต้องยื่นขอ มอก.ใหม่ ให้ทำใจเหล็กจีนล้นสบช่องระบายสต๊อก ด้านคมนาคมยันจีนมีท่าทีอ่อนลง ให้ใช้เหล็กข้ออ้อยขนาดบั้งตามมาตรฐานไทยได้

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย, สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, สมาคมโลหะไทย และผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก สมาชิก 472 บริษัท มูลค่าสินทรัพย์-สินค้าจำหน่ายในประเทศกว่า 500,000 ล้านบาท

ทั้ง 7 สมาคมได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวคมนาคม กับปลัดกระทรวงการคลัง (ดร.สมชัย สัจจพงษ์) เพื่อขอให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กในประเทศกรณี โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ขอให้พิจารณาจัดหาวัสดุก่อสร้างหลัก โดยเฉพาะ “เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต (เหล็กเส้นกลม-เหล็กข้ออ้อย)” รวมถึงสินค้าเหล็กประเภทอื่น ๆ ที่โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศผลิตได้ และเป็นสินค้าที่มีพระราชกฤษฎีกาเป็นไปตามมาตรฐาน ได้แก่ เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต มาตรฐานบังคับ มอก. 20 และ 24, เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ มาตรฐานบังคับ มอก.348, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มาตรฐานบังคับ มอก.1227 กับ 1228, สินค้าเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน มาตรฐานบังคับ มอก.1390, เหล็กแผ่นรีดร้อน มาตรฐานบังคับ มอก.528 กับ 1479 และเหล็กแผ่นรีดเย็น มาตรฐานบังคับ มอก.2012 ทั้งนี้ คำขอดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ซึ่งระบุไว้ในขั้นตอนการก่อสร้างฝ่ายไทยจะดำเนินการ 75% ต้องใช้ผู้รับเหมาไทยและวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในไทย ขณะที่อีก 25% ได้แก่ ระบบราง ระบบรถไฟฟ้า จะดำเนินการโดยฝ่ายจีน

สอดคล้องกับหนังสือที่ทำไปถึง ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ขอให้สนับสนุนการใช้เหล็กภายในประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของ สมอ. ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในโครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน เนื่องจากเกรงว่าโครงการนี้อยู่ภายใต้ มาตรา 44 กฎหมายรัฐธรรมนูญ “อาจจะ” ทำให้กรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถกำกับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างได้ฯ

“ผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศต้องการทราบความชัดเจน เพราะไม่สามารถวางแผนการผลิตหรือการลงทุนเพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนได้ โดยขณะนี้ไม่มีผู้ผลิตเหล็กรายใดกล้าเพิ่มกำลังการผลิต หรือเพิ่มสต๊อกเหล็ก เพราะเกรงว่าหากผลิตไปแล้ว แต่ไม่มีการใช้ ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสูญเปล่า” นายนาวากล่าว

ช่วงแรกเหล็กจีนกินรวบ

1 ใน 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยกล่าวว่า เท่าที่ทราบ จีนซึ่งเป็นคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง ระบุใน TOR ว่า ให้ใช้เหล็กที่ผลิตตามมาตรฐานของจีนเท่านั้น โดยระบุสเป็กชนิดและชื่อมาตรฐานของเหล็กจีนที่จะใช้ผลิต สมาคมเข้าใจว่า หากเป็น “เหล็กเกรดพิเศษ” ที่ใช้เป็นองค์ประกอบในตัวรถไฟ และรางรถไฟ จะกำหนดให้ใช้เหล็กของจีนก็ได้ “เพราะไทยผลิตไม่ได้”

แต่กรณีของเหล็กทั่วไป-เหล็กโครงสร้างที่ใช้ก่อสร้างพื้นฐาน เช่น ตัวอาคารสถานี เหล็กเส้น ปรากฏเหล็กไทยมีมาตรฐานเทียบเท่ากับเหล็กจีน เพียงแต่อาจจะมีชื่อเรียกมาตรฐานต่างกันกับจีน แต่สามารถใช้ทดแทนกันได้ ในกรณีนี้ก็ควรใช้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศ

นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลช่วยเจรจากับจีนให้ใช้เหล็กตามมาตรฐานของไทย หรือหากใช้มาตรฐานจีน ก็ขอให้เป็นขนาด-บั้งที่ไทยผลิตได้ เพราะโครงการนี้ทางวิศวกรจีนเป็นผู้กำหนดและร่างสเป็กในสัญญา สำหรับการกำหนดใช้วัสดุอื่น ๆ รวมถึงเหล็ก แต่ผู้ก่อสร้างโครงการคือ ไทย ปัญหาอย่างเหล็กข้ออ้อย พบว่าบั้งมันไม่เหมือนกัน โรงงานต้องใช้เวลาสั่งซื้อลูกรีดใหม่ ซึ่งในตลาดก็ไม่ได้หาง่าย ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร

“ยกตัวอย่างโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนช่วงแรก กลางดงไปนครราชสีมา 35 กม. ในโครงการใช้เหล็กนำเข้าจากจีนทั้งหมด เนื่องจากได้กำหนดสเป็ก เช่น ต้องใช้เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย ตามมาตรฐานที่จีนต้องการ แต่เครื่องรีดเหล็กของไทยมีปัญหาเรื่องขนาด-บั้ง กลายเป็นไม่ตรงสเป็ก ทำให้ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนลูกรีดบั้งใหม่ แต่ด้วยโครงการจะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคมนี้แล้ว ผู้ประกอบการเหล็กจึงปรับเปลี่ยนเครื่องรีดไม่ทัน ทำให้เสียโอกาสอย่างมาก ผมคาดการณ์ว่าทั้งโครงการจะมีการใช้เหล็กข้ออ้อยสูงถึง 600,000 ตัน” นายเภากล่าว

การใช้มาตรา 44 จัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้นนั้นกลับกลายเป็นว่า ยิ่งเปิดช่องและปิดโอกาสผู้ประกอบการไทย เช่น เร่งการจัดซื้อเหล็กในไทย แต่ผู้ผลิตไทยผลิตให้ไม่ทัน จึงต้องนำเข้าเหล็กจากจีนแทน ตอนนี้ 7 สมาคมกำลังรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “รับนัด” เพื่อจะเข้าพบ ไปหารือในเรื่องนี้

หวั่นเป็นที่ระบายเหล็กจีน

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ได้ร่วมหารือกับผู้ประกอบการผลิตเหล็กในประเทศ โดยมีการแจ้งเรื่องนี้กับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟในประเทศไทยไปแล้ว เพื่อร้องขอให้ใช้เหล็กของผู้ประกอบการไทย ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน “ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจะใช้เหล็กของประเทศใด ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาล แต่ สมอ.ก็เตรียมความพร้อมที่จะสนับสนุนการใช้เหล็กของไทยอย่างเต็มที่” นายพิสิฐกล่าว

แต่หากต้องใช้เหล็กให้เป็นไปตามมาตรฐานจีน ผู้ประกอบการโรงงานผลิตเหล็กในประเทศจะต้องมาขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มอก.จาก สมอ.ใหม่ เนื่องจากเป็นคนละมาตรฐานกัน และนอกเหนือจากของเดิมที่เป็นมาตรฐานบังคับด้วย แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศจีนมีโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้มีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการไปมาก โดยปัจจุบันเกินอยู่ 300 ล้านตัน “จีนเค้าก็ต้องหาวิธีระบายเหล็กของตนเอง โดยต้องอาศัยโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นที่ระบายเหล็กด้วย”

จีนให้ใช้เหล็กข้ออ้อยไทย

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทางสมาคมผู้ผลิตเหล็กได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความชัดเจนเรื่องเหล็กที่ใช้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเช่นกัน โดยทางสมาคมวิตกกังวลถึงการผลิตเหล็กข้ออ้อยว่า กรรมวิธีการผลิตของผู้ประกอบไทยจะไม่เข้ากับสเป็กหรือแบบที่จีนกำหนด เนื่องจากเป็นเหล็กลักษณะเฉพาะ อาจจะทำให้จีนไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล็กไทยได้

“เรื่องนี้จะประชุมร่วมกับจีนเร็ว ๆ นี้ คาดว่าไม่มีปัญหา โดยฝ่ายจีนก็มีท่าทีอ่อนลงและจะให้ใช้สเป็กเดียวกันได้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับ สมอ. และสมาคมผู้ผลิตเหล็กได้รับการยืนว่า เหล็กที่ใช้ก่อสร้างสามารถผลิตในประเทศได้ ซึ่งก็ได้ข้อยุติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงสเป็กและคุณสมบัติของเหล็กข้ออ้อยที่ใช้ก่อสร้าง “ทางจีนก็ยินยอมจะมอบให้ไทยแล้วเช่นกัน”

โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 19 ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับ “เหล็กข้ออ้อย” ที่จะใช้ในโครงการแล้ว โดยเหล็กข้ออ้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางและบั้งตามมาตรฐานเหล็กของไทยสามารถนำมาใช้ได้