สค.เล็งเห็นโอกาสส่งออกสินค้าออร์แกนิคไทยในสหรัฐ แนะผู้ประกอบการสร้างมาตรฐาน USDA organic

สค.เล็งเห็นโอกาสส่งออกสินค้าออร์แกนิคไทยในสหรัฐ แนะผู้ประกอบการสร้างมาตรฐาน USDA organic พบว่าปี 2560 การส่งออกมูลค่าสูงถึง 4.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 15 เท่าในรอบ 20 ปี

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า จากผลการสำรวจ Organic Trade Association สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้รายงานการซื้อขายสินค้าอาหารออร์แกนิคในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ความต้องการสินค้าออร์แกนิคมีอัตราการปรับตัวดีขึ้น โดยยอดจำหน่ายสินค้าในปี 2560 มีมูลค่ารวมสูงถึง 4.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2559 ที่เคยมีมูลค่าอยู่ที่ 4.57 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการขยายตัวมากที่สุดถึง 6.4%
ดังนั้น ตลาดสินค้าออร์แกนิคในประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่ง ซึ่งสินค้าไทยส่วนใหญ่ก็เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอยู่แล้ว เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมตลาดสินค้าออร์แกนิค ได้โดยปรับเปลี่ยนขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตเพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์การเป็นสินค้าออร์แกนิค ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ และถ้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตาม USDA กำหนดเพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ USDA organic ซึ่งเป็นเสมือนกุญแจเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดสินค้าออร์แกนิคในประเทศสหรัฐฯ ก็จะมีโอกาสขยายฐานการตลาด เพิ่มมูลค่าการซื้อขายได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับตลาดการซื้อขายสินค้าอาหารออร์แกนิคในสหรัฐอเมริกาอยู่ในทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2540 มีการซื้อขายเพียง 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่า ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลา 20 ปีเท่านั้น

สินค้าอาหารออร์แกนิคที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2560 คือผักและผลไม้ ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.65 หมื่นเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโต 5.3% ด้านเครื่องดื่มออร์แกนิคก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปี 2560 มีมูลค่ากว่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวถึง 10.5% โดยเฉพาะน้ำผลไม้สดที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวถึง 25% และส่วนเครื่องดื่มนมทางเลือก อาทิ นมอัลมอนด์, นมถั่วเหลือง, นมมะพร้าว, นมข้าว และนมที่ไม่ได้มาจากสัตว์ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปี 2560 เช่นเดียวกัน