3 ยักษ์ไทยเพิ่มลงทุนเวียดนาม “CP-SCG-อมตะ” ติงกม.เปลี่ยนทุกเดือน

ก.อุตฯเซอร์เวย์ลงทุนเวียดนาม หลัง 3 บิ๊กธุรกิจอัดเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม ชี้เป็นตลาดมีอนาคตเศรษฐกิจโต 7% แรงงาน 60 ล้านคน ติงกฎหมายเปลี่ยนง่ายอุปสรรคการลงทุน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เวียดนามเป็นโอกาสของการลงทุนของนักธุรกิจไทย เพราะเป็นตลาด และมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งยังมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหลักคือ การหาพันธมิตรท้องถิ่นร่วมลงทุนอาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้ามาลงทุนได้ยาก รวมถึงการปรับค่าจ้างแรงงาน แม้จะมีอัตราต่ำแต่ก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเปลี่ยนกฎหมายเร็วจนส่งผลต่อการขยายการลงทุนในหลายโครงการ

“ขณะนี้มองถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยน่าจะเอามาช่วยได้บ้าง และหากลดอุปสรรคทำให้การค้าการลงทุนกันง่ายขึ้น”

นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การลงทุนในเวียดนามยังคงมีปัจจัยบวกจาก GDP ปี 2561 ที่คาดว่าจะโต 6-7% และเป็นประเทศที่มีการเมืองมั่นคงมีการดำเนินนโยบายเดียวต่อเนื่อง โดยเปิดกว้างด้านการค้ากับต่างประเทศ และจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับอาเซียน ยุโรป รัสเซีย และเกาหลี และมีประชากรวัยทำงาน 60% จาก ทั้งหมด 100 ล้านคน

ในปีนี้ทาง ซี.พี.มีแผนลงทุนโครงการโรงงานชำแหละไก่เพื่อส่งออก กำลังการผลิต 52 ล้านตัว/ปี มูลค่าลงทุนประมาณ 7,300 ล้านบาท และโรงงานชำแหละและแปรรูปหมูเพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังการผลิต 730,000 ตัว/ปี มูลค่าลงทุนประมาณ 320 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้ทั้งปี 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีรายได้ 70,000-80,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทได้ใช้โมเดล contract farming ทำให้เป็นเบอร์ 1 มีกำลังการผลิตรวม4.2ล้านตัน/ปี แบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ 45% การเลี้ยงสัตว์ 48% และอาหาร 7%

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีคู่แข่ง จากเกาหลีเข้ามา จึงมีแผนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเป็น 15-20% ขยายสาขา CP เฟรชมาร์ทเพิ่มจาก 15 เป็น 30 สาขา การพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านโลจิสติกส์เพื่อนำ e-Commerce มาใช้

นายสุรกิจ เกียรติธนากร ประธานบริษัท อมตะซิตี้ เบียนโฮ จำกัด กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะสิงคโปร์ และญี่ปุ่นมากขึ้น โดยปัจจุบันอมตะเปิดดำเนินการและกำลังพัฒนานิคมฯ 3 แห่ง คือ อมตะซิตี้ลองถั่น พื้นที่ 2,564 ไร่ อมตะซิตี้เบียนหัว พื้นที่ 4,375 ไร่ และอมตะซิตี้ฮาลองอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ 36,181.25 ไร่ ซึ่งได้พื้นที่แล้ว 4,462.5 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างปี 2563 ทั้งนิคมอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ ด้วยเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท

“ความยากของการทำธุรกิจที่นี่คือ การซื้อและเวนคืน ต้องให้ท้องถิ่นอนุญาตแล้วให้รัฐอนุมัติตามนโยบายประเทศ และจะทำยังไงให้เรากับชุมชนอยู่ด้วยกันได้ อย่างที่ฮาลองยังรอใบอนุญาตเฟสอื่น ๆ ที่เหลือจากรัฐจึงจะเข้าพัฒนาได้ ตอนนี้ตีเขตไว้หมดแล้วหากชุมชนเข้าอยู่ รัฐจะช่วยไกล่เกลี่ยและชดเชยในการหาพื้นที่อาศัยใหม่ให้”

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองผู้อำนวยการ บริษัทเอสซีจี ประจำประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัททีพีซี วินา พลาสติกแอนด์เคมีคอล จำกัด บริษัทในเครือ SCG ที่ประเทศเวียดนาม ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) จาก 71% เป็น 100% เพื่อดำเนินการผลิตปิโตรเคมีครบวงจรรายแรกในเวียดนาม มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.6 ล้านตัน/ปี รองรับความต้องการภายในเวียดนาม 2.3 ล้านตัน/ปี

“กฎหมายที่นี่เปลี่ยนทุกเดือน เช่นการตั้งรีเทลต้องขออนุญาต มีกฎระเบียบหลายอย่าง เพื่อดูแลธุรกิจในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคพอสมควรแต่ที่ทุกประเทศก็โดนเหมือนกัน”