ปิดบัญชีจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ขาดทุน6.5แสนล้าน “นครหลวง”กวาดสต๊อกสูงสุด

แฟ้มภาพ

ปิดบัญชี-ล้างสต๊อก “จำนำข้าวยิ่งลักษณ์” 18 ล้านตัน TDRI ชี้ขาดทุนทะลุ 6.5 แสนล้านบาท “5 เสือส่งออก” แบ่งเค้กถ้วนหน้า 4 ล้านตัน “นครหลวง-เอเซียโกลเด้นท์ไรซ์” คว้าข้าวสต๊อกรัฐสูงสุด เอกชน 41 รายแห่ประมูลข้าวเสื่อมลอตสุดท้าย 2 ล้านตัน 14-15 มิ.ย.นี้ ราคาส่งออกหอมมะลิดีดทะลุ 1,450 เหรียญสหรัฐ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้จัดการสต๊อกข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึง 18 ล้านตัน ซึ่งจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 ได้ระบายข้าวสารไปแล้ว 14,514,414.87 ตัน มูลค่า 131,299 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตันละ 9,000 บาท ซึ่งขาดทุนจากต้นทุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท หรือคิดเป็นต้นทุนข้าวสารตันละ 24,000 บาท

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินผลล่าสุดคาดว่า เมื่อระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลครบทั้งหมดจะทำให้ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 6.5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผลวิจัยของทีดีอาร์ไอที่ได้เคยศึกษาในรอบที่ 2 เมื่อปี 2557 ที่มีการคำนวณผลกระทบเพิ่มในส่วนการจำหน่ายข้าวสารเสื่อมสภาพไม่ตรงตามมาตรฐานและข้าวหาย ทำให้ตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 แสนล้านบาท จากผลการวิจัยในรอบแรกที่คำนวณไว้ 5.4 แสนล้านบาท จากที่รัฐบาลใช้งบประมาณ 9.58 แสนล้านบาท ในการรับจำนำข้าว 54.4 ล้านตัน

“หากเทียบผลการวิจัยรอบที่ 2 ที่คำนวณรวมข้าวเสื่อมและข้าวหาย ถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ปิดบัญชีโครงการรับจำนำของกระทรวงการคลัง ที่ประเมินไว้ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่งรวมการขายข้าวในสต๊อกที่ยังคงเหลือพบว่าขาดทุน 637,244 ล้านบาท ซึ่งยิ่งการระบายล่าช้า ความเสื่อมก็มากขึ้น ก็ยิ่งขายได้ราคาลดต่ำลง เช่น ข้าวที่ขายเป็นอาหารสัตว์เหลือ กก.ละ 2-3 บาทเท่านั้น”

ผู้ส่งออก-โรงสีแบ่งเค้ก

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา 14.5 ล้านตัน พบว่าผู้ประกอบการโรงสีเป็นผู้ชนะประมูล ประมาณ 3-4 ล้านตัน ขณะที่ผู้ส่งออกประมูลได้ไปประมาณ 10-11 ล้านตัน โดยผู้ชนะประมูลสูงสุดในกลุ่ม 5เสือส่งออก ได้แก่ กลุ่มนครหลวงค้าข้าว และแคปิตอลไรซ์ ประมูลได้ 1.7-2.0 ล้านตัน เอเซียโกลเด้นไรซ์ และไทยแกรนลักซ์ ปริมาณ 1.7-1.8 ล้านตัน พงษ์ลาภ 1.4-1.5 ล้านตัน ธนสรรไรซ์ 700,000-800,000 ตัน ส่วนกลุ่มโรงสีที่ชนะประมูล เช่น กลุ่มพิจิตรโรงสีร่วมเจริญ 2 ไรซ์ ปริมาณ 400,000-500,000 ตัน โรงสีเจริญผล จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ทำข้าวหอมมะลิ 180,000-200,000 ตัน และกลุ่มโรงสีทรัพย์อนันต์ ประมาณ 100,000 ตัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลหลายราย ยังคงไม่สามารถรับมอบข้าวสารได้ครบเต็มจำนวน เนื่องจากพบว่าข้าวสารที่ประมูลมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ประมูล หรือผิดสเป็ก ซึ่งบางรายพบปัญหาถึง 40-50% ของข้าวที่ประมูลไป ทำให้ต้องยื่นหนังสือถึงองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) หามาตรการแก้ไขเป็นรายกรณี เช่น การขอขยายเวลารับมอบ หรือการรับมอบเฉพาะในส่วนที่ตรงสเป็ก เป็นต้น

“ขณะที่สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิส่งออกปรับขึ้นจากเดือนก่อนที่จำหน่ายตันละ 1,250 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,450 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นข้าวของกลุ่มบริษัทเจียเม้ง (หงษ์ทอง) ที่ส่งออกไปฮ่องกง สาเหตุที่ราคาปรับสูงขึ้นเพราะปริมาณผลผลิตข้าวหอมลดลง ขณะที่ราคาข้าว 5% ราคายังทรงตัวใกล้เคียงกับก่อนหน้านี้”

41 รายแห่ประมูลข้าวเสื่อม

ขณะที่การเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลลอตสุดท้ายที่เหลือ 2 ล้านตัน จากโครงการรับจำนำข้าวจากทั้งหมดกว่า 18 ล้านตัน นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลการเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นซองคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวสารปริมาณ 2 ล้านตัน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการสนใจทั้งหมด 41 ราย แบ่งเป็น 1.การประมูลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ปริมาณ 1.49 ล้านตัน มีผู้ยื่นเอกสาร 26 ราย และ 2.การประมูลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ปริมาณ 540,000 ตัน มีผู้ยื่นเอกสาร 15 ราย โดยในวันที่ 14-15 มิถุนายน 2561 จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาซื้อ

5 ข้อเสนอยกเครื่อง

รศ.ดร.นิพนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลหมดลง เป็นการปลดล็อกพันธนาการซึ่งส่งผลดีต่อตลาดและราคาส่งออกข้าว ทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจว่าไทยจะไม่มีสต๊อกข้าวราคาถูกมาถล่มตลาดอีก รัฐบาลควรอาศัยจังหวะนี้ปรับปรุงนโยบายบริหารจัดการข้าวในระยะยาว โดยจะต้องยึดกลไกตลาดเป็นหลัก และดำเนินการตามแนวทางสำคัญ 5 ด้าน คือ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำข้อมูลการผลิตเพื่อให้การพยากรณ์ผลผลิตแม่นยำ เช่น โมเดลของสหรัฐ ซึ่งใช้แบบจำลองทางการเกษตร


2.กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงข้อมูลเชิงลึก จากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในต่างประเทศ เพื่อนำมาสื่อสารกับภาคการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 3.ภาครัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 4.ภาครัฐให้งบประมาณสนับสนุน ภาคประชาชน สตาร์ตอัพ นำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตและ 5.รัฐบาลวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ