“สนธิรัตน์” เผยหลังประชุม นบขพ. มติเห็นชอบให้คงนำเข้าข้าวสาลี 1 ต่อ 3

สนธิรัตน์ เผยหลังประชุม นบขพ. มติเห็นชอบให้คงนำเข้าข้าวสาลี 1 ต่อ 3 แต่ยกเว้นให้นำเข้าได้ใน 1ต่อ 2 ช่วง 2 เดือนเท่านั้น ที่ผลผลิตออกน้อย หวังแก้ปัญหาในช่วงที่วัตถุดิบขาดแคลน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ซึ่งมีผู้แทนสภาเกษตรกร สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และ สมาคมการค้าพืชไร่ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบคงสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอัตรา 1 : 3 ยกเว้นเฉพาะในช่วง 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2561 กำหนดให้ผู้ประกอบการนำเข้าในอัตรา 1 : 2 ได้เนื่องจากเป็นช่วงที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดน้อย ไม่กระทบเกษตรกรและเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการดังกล่าวเป้าหมายเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเดือนกันยายน 2561 ซึ่งผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กำลังออกสู่ตลาด โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะนำเข้าข้าวสาลี สามารถใช้หลักฐานการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ 1 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2561 มาใช้ประกอบในการขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลี และเพื่อเป็นการคงมาตรการในการรักษาระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงานอาหารสัตว์ ให้รับซื้อ ณ ความชื้น 14.5% ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกก. ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล สำหรับต่างจังหวัดปรับลดตามระยะทางค่าขนส่ง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรและขอให้มั่นใจว่า จะไม่มีการนำเข้าข้าวสาลีเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เนื่องจากได้มอบหมายคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกสินค้าเกษตร และคณะทำงานตรวจสอบปริมาณการรับซื้อข้าวโพด กำกับดูแล ตรวจสอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การนำเข้าข้าวสาลีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งปริมาณสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีของทั้งโรงงานอาหารสัตว์และผู้รวบรวม อย่างใกล้ชิดหากพบว่ามีความผิดปกติในการซื้อขายหรือปริมาณสต๊อก จะสั่งระงับการนำเข้าทันที

สำหรับ มาตรการดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์การนำเข้าข้าวสาลีและวัตถุดิบทดแทนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กับทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร โรงงานอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และขอให้พ่อค้าผู้รวบรวมและโรงงานอาหารสัตว์ดำเนินธุรกิจด้วยความเกื้อกูลกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน