กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ภารกิจค้นหา “อนาคตใหม่” ปตท.

แม้ว่าอุตสาหกรรม “น้ำมัน” จะยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ” อยู่ในทิศทางเติบโตลดลง จากการเข้ามาของพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ รวมทั้งกระแสความต้องการใช้ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” (EV) ที่กำลังเข้ามาทดแทน “รถยนต์ใช้น้ำมัน”

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยักษ์พลังงานของไทย เตรียมพร้อมรับกระแสดิสรัปชั่นตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการตั้งทีมงานที่ชื่อว่า “Express Solution” หรือ “ExpresSo” ขึ้นมา โดยคัดสรรทีมงานหัวกะทิคนรุ่นใหม่ เพื่อทำหน้าที่ค้นหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับ ปตท.

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” หัวหน้าทีม ExpresSo หนึ่งในกำลังสำคัญของการค้นหา “อนาคตใหม่” หรือที่เรียกว่า Next S-curve ของ ปตท.

ภารกิจหา “ธุรกิจใหม่”

“กวีวุฒิ” เล่าถึงบทบาทการทำงานของทีม ExpresSo ว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อหาโอกาสในธุรกิจใหม่ให้กับ ปตท. แม้ว่าธุรกิจพลังงานไม่ใช่ธุรกิจที่กำลังถูกดิสรัปต์เหมือนธุรกิจการเงิน หรือธุรกิจสื่อ แต่ซีอีโอ ปตท. (นายเทวินทร์ วงศ์วานิช) มีทิศทางชัดเจนว่าต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจในช่วงที่ยังแข็งแรง เพราะจะทำให้สามารถเปลี่ยนได้มากกว่าและดีกว่าช่วงที่ “อ่อนแอ”

การทำงานของทีม ExpresSo จะแตกต่างจากการทำงานรูปแบบเดิมแบบคนละสายพันธุ์ เป็นทีมงานเล็ก ๆ แค่ 10 คน เป็นการนำ “design thinking” คือ กระบวนการสร้างนวัตกรรมเข้ามาใช้ เน้นเข้าใจลูกค้า ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ รู้ปัญหา-คิดนอกกรอบ และลงมือทำ

สิ่งสำคัญต้องเริ่มจาก “รู้ปัญหา” แล้วนำเทคโนโลยีเข้ามาจับ ปัญหาของธุรกิจไทยคือจะเริ่มจากการพูดถึงเทคโนโลยีก่อน เช่น เอไอ บล็อกเชน แต่ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่เข้าใจปัญหา

“ลงมือทำด้วยการสร้างต้นแบบเพื่อมาทดสอบกับตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ “think big start small” คิดให้ใหญ่แต่เริ่มให้เล็ก เพราะปัญหาส่วนใหญ่คือ คิดใหญ่แล้วจะจบลงที่ไม่ลงมือทำ”

หัวหน้าทีม ExpresSo อธิบายว่า ถ้าไม่มีการทำ “ต้นแบบ” ออกมาทดสอบตลาด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือนั่งตัดสินกันอยู่ในห้องประชุมว่า “เวิร์ก” หรือ “ไม่เวิร์ก” แต่คนที่จะบอกว่า เวิร์ก หรือไม่เวิร์ก คือ “ลูกค้า”

“การทำอินโนเวชั่น คือการลงทุนทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่า เวิร์ก หรือไม่เวิร์ก นี่คือการทำงานแบบ design thinking ด้วยการทำงานของคนแบบใหม่ และวิธีการทำงานแบบใหม่ เพราะทีมอินโนเวชั่นในองค์กรมีเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำงานแบบเดิม ซึ่งก็จะทำให้ติดอยู่กับเรื่องเดิม ๆ”

2 โปรเจ็กต์แห่งอนาคต

“กวีวุฒิ” เล่าว่า ทีมได้งบฯมาก้อนหนึ่งเพื่อทำสิ่งใหม่ ๆ เวิร์กบ้าง ไม่เวิร์กบ้าง สำหรับโปรเจ็กต์ที่อาจเรียกว่า เวิร์ก ก็คือ “บริหารจัดการพลังงานรูปแบบใหม่” ด้วยมุมมองที่ว่าในอนาคตจะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และบ้านเรือนทั่วไปจะสามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองได้ ทำให้ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ซับซ้อนมากขึ้น บิสซิเนสโมเดลที่มองจะเป็นเรื่อง “data” การนำข้อมูลการใช้พลังงานหลาย ๆ อย่าง มาสร้างบริการหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และอีกโครงการที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีการตั้งทีมขึ้นมารับช่วงต่อแล้วก็คือ เรื่องโรโบติกส์ หรือหุ่นยนต์ ซึ่งจะมีทั้งสมอง ตัว และข้อมูลซอฟต์แวร์

ตอนนี้ ปตท.ได้ตั้งทีม electricity value chain และทีม robotics & artificial intelligence solution มารับช่วงต่อทั้ง 2 โครงการ เพราะสิ่งสำคัญของอินโนเวชั่น คือ “โมเมนตัม” ซึ่งเมื่อทีม ExpresSo เป็นคนทำต้นแบบขึ้นมา เมื่อภาพชัดขึ้นก็จะมีทีมมารับช่วงไปพัฒนาต่อ

Data is a new oil.

“Data is a new oil เมื่อก่อนเคยมีคำพูดว่า ใครมีน้ำมัน คนนั้นรวย แต่สำหรับยุคนี้ ใครมีข้อมูลมากที่สุด คนนั้นรวย”

หัวหน้าทีมเอสเพรสโซ่อธิบายว่า ถ้าเอาแค่ data ไปขาย ก็เหมือนขายน้ำมันดิบ มีมูลค่าน้อย แต่ถ้าใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล และสร้างเป็นโปรดักต์ใหม่ ก็เหมือนกับขายน้ำมันที่กลั่นแล้ว ยกตัวอย่าง กูเกิล ที่มี Google Search คนเข้าไปใช้มากขึ้นก็ยิ่งสร้างดาต้าให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บริโภคเอาข้อมูลไปให้กูเกิล จนรู้จักเราดีกว่าตัวเอง และสร้างดาต้าโปรดักต์มาขาย นี่คือสิ่งที่ทีม ExpresSo พยายามสื่อสารให้ผู้บริหารมองเห็นว่า ปตท.สามารถสร้างบิสซิเนสโมเดลใหม่จากดาต้าได้

แต่เป็นดาต้าด้านอุตสาหกรรมผลิต เพราะจริง ๆ แล้ว ธุรกิจของ ปตท.กว่า 90% เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โรงกลั่นน้ำมัน ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ โรงงานปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ปตท.มีความได้เปรียบด้านดาต้ามหาศาล หากเพิ่มการวิเคราะห์ข้อมูลเข้าไปจะเกิดประโยชน์มาก เช่น ระบบการจัดการเครื่องจักร ช่วยให้จ่ายซ่อมบำรุงโรงงานลดลง เพราะสามารถคาดการณ์ดูแลรักษาเครื่องจักรต่าง ๆ ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ นี่คือแนวทางการสร้างบิสซิเนสโมเดลจากดาต้าของ ปตท.

“ที่ผ่านมาคนมาขายเครื่องจักรให้ ปตท. และนำข้อมูลของ ปตท.ไปวิเคราะห์ และนำ insight กลับมาให้ โดยที่ ปตท.ต้องจ่ายเงิน แต่จากนี้ asset ข้อมูลเหล่านี้ ปตท.จะไม่ให้ใคร แต่เราจะพัฒนาให้กลายเป็น digital product ของ ปตท. โดยที่จะมีพาร์ตเนอร์มาช่วยปั้นเป็นโปรดักต์และนำมาเทสต์กับตลาดให้เร็วที่สุด”

ก้าวสู่ “ดิจิทัลคอมปะนี”

หัวหน้าทีมเอสเพรสโซ่เล่าว่า เป้าหมายการพัฒนา “digital product” ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ในกลุ่ม ปตท. แต่หมายถึงอุตสาหกรรมผลิตทั้งในและต่างประเทศ ปตท.จะกลายเป็นผู้ให้บริการด้านอุตสาหกรรม อย่างเช่น โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัลโปรดักต์ของ ปตท.จะสามารถเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของ ปตท.ที่จะเข้าไปช่วยลูกค้า

“ให้นึกภาพเราเลี้ยงเด็ก ก็จะมี AI แบบเด็ก ๆ เมื่อใส่ข้อมูลให้ก็จะเริ่มโตและเก่งขึ้น คนที่มีข้อมูลเยอะที่สุด ก็จะได้คนเก่งที่สุดขึ้นมา ข้อมูลที่มีก็นำไปวิเคราะห์ให้คนอื่น ๆ ได้ และสิ่งที่ทีมเอสเพรสโซ่คิด ไม่ใช่แค่รองรับธุรกิจพลังงาน แต่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม แต่ ปตท.ไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่าง แต่ต้องมีพันธมิตรเก่ง ๆ มาช่วย”

กวีวุฒิวาดภาพต่อว่า นี่คือการเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดลของ ปตท. ที่จะกลายเป็น “ดิจิทัลคอมปะนี” เพราะ “ดิจิทัลโปรดักต์” เป็นธุรกิจที่เติบโตรวดเร็ว ไม่ต้องลงทุนสูง ดูจากผลประกอบการกูเกิล เฟซบุ๊ก สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต คือ “บิสซิเนสโมเดล” ที่ทำให้ไม่มีวันแพ้ใคร เพราะเมื่อคนใช้บริการมากขึ้น ก็จะได้รับข้อมูลมากขึ้นด้วย

ลงทุนสตาร์ตอัพไทย-เทศ

กวีวุฒิอธิบายเพิ่มเติมว่า อีกด้านหนึ่งในการค้นหาอนาคตใหม่ของ ปตท. โดยการตั้งกองทุนที่เรียกว่า venture capital (VC) ซึ่งได้รับงบประมาณก้อนแรกจากบอร์ดประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพทั่วโลก เป้าหมายคือการลงทุนใน “เทคโนโลยีใหม่” ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานและธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนแล้ว 4 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัพในอเมริกาที่บริษัทพลังงานชั้นนำของโลกก็เข้าไปลงทุน

นอกจากการลงทุนกับบริษัทสตาร์ตอัพต่างประเทศแล้ว ล่าสุด ปตท.ยังลงทุนในสตาร์ตอัพไทยที่ชื่อ “Baania” ด้วยเหตุเพราะ ปตท.มองโอกาสทางด้าน “สมาร์ทซิตี้” ข้อมูลของ Baania จะเป็นประโยชน์กับ ปตท.ในอนาคต โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการประเมินราคาที่ดิน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มด้านนี้ แต่ด้วยข้อมูลที่ Baania รวบรวมไว้อย่างดี เมื่อมาผนวกกับนำ AI มาวิเคราะห์ จะทำให้รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีราคาที่ดินเป็นอย่างไร รวมไปจนถึงจำนวนประชากร ซึ่งทำให้สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ถึงสภาพของผู้คนในพื้นที่ เพื่อช่วยในการตัดสินใจได้ว่าในแต่ละพื้นที่ ปตท.ควรลงธุรกิจประเภทใดได้อีกด้วย

เมื่อถามถึงภาพอนาคตของ ปตท.จะเป็นอย่างไร กวีวุฒิบอกว่า ปตท.จะเป็นผู้คิด และทำในสิ่งใหม่ที่ส่งผลกับประเทศ เพราะเมื่อ ปตท.เปลี่ยน ประเทศก็จะเปลี่ยนด้วยเช่นกัน