กรมการค้าต่างประเทศ ยันการระบายข้าวที่ผ่านมาไม่มี 2 มาตรฐานเป็นไปตามขั้นตอนตามมติเห็นชอบทั้งหมด

กรมการค้าต่างประเทศ ยันการระบายข้าวที่ผ่านมาไม่มี 2 มาตรฐานเป็นไปตามขั้นตอนตามมติเห็นชอบทั้งหมด อีกทั้งยังต้องเดินหน้าระบายต่อไป เนื่องมีภาระค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ขณะที่การระบายข้าวล่าสุดเสนอซื้อกว่า 1.48 ล้านตัน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีบริษัท ทีพีเค เอทานอล จำกัด เดินทางเข้าร้องเรียนกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ถึงการทำงานของกรมการค้าต่างประเทศ 2 มาตรฐาน ว่า การดำเนินการทำงานของกรมฯที่ผ่านมาเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. อีกทั้ง ยังมีคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ตามลำดับขั้นตอนในการพิจารณา ดังนั้น การทำงานของกรมฯจึงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด สำหรับการประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลและผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล

ทั้งนี้ การที่บริษัท ทีพีเค ถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูลเนื่องจากคุณสมบัติไม่ผ่าน และเวลานั้นที่มีปัญหาศาลก็พิจารณาตัดสินสิ้นสุดไปแล้ว ส่วนในตอนนี้แม้บริษัท ทีพีเค จะดำเนินการร้องศาลปกครองชั้นต้นและพิจารณาเห็นชอบกับคำร้อง แต่การระบายข้าวในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.49 ล้านตัน ยังต้องเดินหน้าต่อ ชะลอไม่ได้ เพราะหากไม่ดำเนินการใดอาจจะสร้างความเสียหาย เพราะมีภาระค่าจัดเก็บข้าวในสต็อกรัฐบาลต่อเดือนประมาณ 130 ล้านบาท

“กรมฯเคารพการตัดสินของศาลหากศาลพิจารณาแล้ว และขณะนี้กรมฯก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ ทีพีเค ยื่นร้องกรมฯ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด และการที่กรมฯจะชนะหรือแพ้ กรมฯก็ไม่เป็นไรเพราะกรมฯเคารพการพิจารณาของศาล และหน่วยงานรัฐเองก็มีขั้นตอนในการชดเชยค่าเสียหาย หากเกิดว่ากรมฯแพ้คดีที่เกิดขึ้น หรือหากทางทีพีเคแพ้ จะเดินหน้าอย่างไรก้ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลก่อน แต่ขณะนี้ กรมฯก็ต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอนที่มีมติเห็นชอบ และกรมฯยืนยันไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บข้าวในสต้อกรัฐบาล ล้วนเป็นภาษีของประชาชน หากเกิดการชะลอการระบาย แล้วใครจะรับผิดชอบ และการที่กรมฯเปิดการระบายข้าวในช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม ผลผลิตไม่ออกซึ่งไม่ไปสร้างแรงกดดันต่อตลาด อีกทั้ง พืชเกษตรตัวอื่นก็ราคาสูงซึ่งเป็นช่วงที่ดีไม่กระทบสินค้าเกษตรตัวอื่นด้วย อีกทั้ง มีผลทางจิตวิทยากับตลาดและยืนยันว่าการทำงานของกรมฯที่ผ่านมามีความโปร่งใส ชัดเจน

นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.49 ล้านตัน จำนวน 91 คลัง ปรากฏว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติผู้เสนอซื้อเบื้องต้น 26 ราย และพบว่า มีผู้ยื่นซองเสนอ 22 ราย โดยเป็นผู้เสนอซื้อสูงสุด จำนวน 18 ราย ใน 88 คลัง ปริมาณ 1.48 ล้านตัน คิดเป็น 99.04% ของปริมาณที่เปิดประมูลทั้งหมด มูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ8,441 ล้านบาท และราคาเสนอซื้อเฉลี่ย คือ 4,967 บาทต่อตัน ซึ่งมากกว่าการประมูลครั้งที่ผ่านมาที่มีการเสนอซื้อเฉลี่ย 4,870 บาทต่อตัน

สำหรับชนิดข้าวที่มีผู้เสนอซื้อมากที่สุด คือ ข้าวขาว 5% ปริมาณ 0.87 ล้านตัน คิดเป็น 58.84% รองลงมา คือ ปลายข้าว A 1 เลิศ ปริมาณ 0.47 ล้านตัน คิดเป็น 31.85% อย่างไรก็ดี หลังการยื่นซองเสนอแล้ว จะสรุปผลเข้าที่ประชุมคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวก่อนเสนอประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเสนอได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 นี้

อย่างไรก็ดี การระบายข้าวครั้งนี้ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการส่งมอบ การระบายอย่างเคร่งครัด ทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อป้องกันการรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ ซึ่งหากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีการนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากปรากฏภายหลังว่าผู้เสนอซื้อรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่ประกาศกำหนดจะถือว่าผู้เสนอซื้อรายนั้นขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น และจะถูกดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประกาศฯ ที่กำหนดไว้ต่อไป