ชัยพล พรพิบูลย์ “นิคมโรจนะ” งัดโปรโมชั่นดึงลูกค้า EEC

หลังจากการประกาศพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นเขตพัฒนารองรับการลงทุนในโครงการสำคัญให้เป็น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุม 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เหล่าผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ไม่หยุดนิ่งที่จะเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการขยายการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเป้าหมายเฉพาะอย่างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายชัยพล พรพิบูลย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ถึงกลยุทธ์แผนการตลาดหลังจากนี้สำหรับการดึงดูดนักลงทุน และแผนการลงทุนขยายพื้นที่ใน EEC

Q : ภาพรวมโรจนะ

ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการทั้งหมด 6 โครงการ ดังนี้ 1.สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา พื้นที่ 18,000 ไร่ 2.สวนอุตสาหกรรมโรจนะปราจีนบุรี พื้นที่ 6,000 ไร่ 3.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง บ้านค่าย พื้นที่ 2,843.40 ไร่ 4.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง ปลวกแดง พื้นที่ 1,373.80 ไร่ 5.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ชลบุรี บ่อวิน 1 พื้นที่ 1,000 ไร่ 6.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง พื้นที่ 843.41 ไร่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ขายเหลือเพียง 20 % จึงเตรียมขยายพัฒนาโครงการใหม่อีก 3 โครงการ คือ 1. โครงการชลบุรี หนองใหญ่ เนื้อที่ 2,333 ไร่ 2. โครงการชลบุรี บ่อวิน 2 เนื้อที่ 1082.40 ไร่ และ 3. โครงการอยุธยาเฟส 10 เนื้อที่ 1,000 ไร่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะ เป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่ความสนใจทั้งในและต่างประเทศ

Q : คาดการณ์ผลประกอบการ

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่ผ่านมา ปีนี้คาดว่ายอดขายมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากผลของยอดการจับจองที่ดินเมื่อปีที่แล้ว

Q : เทียบสัดส่วนความสนใจนักลงทุน

แนวโน้มนักลงทุนจีนวันนี้เริ่มสูงขึ้นมาก แม้ว่าตอนนี้สัดส่วนจะเป็นญี่ปุ่น 70% ไทย 20% และจีนเพียง 10% เท่านั้น ล่าสุดบริษัทแคนาเดียนโซล่ารายใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในนิคมของเรา พื้นที่ถึง 180 ไร่ และสังเกตพบว่าอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์ของจีนเข้ามาลงทุนไทยมากขึ้น รวมถึงไต้หวัน เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนในประเทศและถูกผลักดันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

Q : โปรโมชั่นดึงนักลงทุน

ในพื้นที่ EEC ขณะนี้ถือว่ามีผู้ประกอบการที่ทำนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ ๆ คือ กลุ่มอมตะ WHA (เหมราช) โรจนะ CP และยังรวมถึงกลุ่มน้องใหม่อย่างไทยเบฟ แน่นอนว่าการจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาจะต้องสู้การแข่งขันกับคู่แข่ง โดยใช้แผนการตลาดและจุดแข็งดึงดูดนักลงทุน แต่การแข่งขันไม่ควรเอาเรื่องของราคามาทำ เราใช้โปรโมชั่นเรื่องของการลดหย่อนเรื่องของสาธารณูปโภค เช่น ที่อยุธยาเก็บค่าน้ำ 17 บาท/ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่บางรายได้โควตาแค่ 10 คิว/วัน/โรงงานเท่านั้น หากใช้เกินจะคิดส่วนเกินค่าน้ำเพิ่มเป็น 22 บาท ดังนั้นหากบางโรงงานอย่างที่ผลิตน้ำอัดลม เขาใช้น้ำมาก ก็จะลดหย่อนค่าน้ำส่วนเกินให้ 3 ปีแรก

สำหรับจุดแข็งของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ คือ การบริการคุณภาพของสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า สิ่งอำนวยการสะดวก รวมถึงการดีไซน์พื้นที่ของนิคมให้เหมาะสมกับความต้องการ เช่น ทางเข้า ทางออก ที่มีหลายทาง แม้ว่าเรื่องนี้จะมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่เราให้ความสำคัญกับทางเข้า-ออก เพราะเป็นการบริหารจัดการการจราจรในเขตนิคม ซึ่งจะช่วยทำให้ไม่มีปัญหากับชาวบ้านในชุมชน

Q : นักลงทุนมอง พ.ร.บ.EEC

แน่นอนว่าเมื่อกฎหมายออกมา มันมีความชัดเจนในทุกเรื่อง นักลงทุนตอบรับและรับรู้ถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นใน EEC โดยเฉพาะความสนใจในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่มีให้ ทำให้นักลงทุนรายใหม่บางกลุ่มที่มีแผนการลงทุน แต่อยู่นอกพื้นที่ EEC สนใจที่จะย้ายเข้ามาอยู่ใน EEC และในเขตที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากการเป็นนิคมอุตสาหกรรมจะมีข้อดีในเรื่องของการบริหารจัดการที่ทางภาครัฐ หรือ กนอ. จะเป็นผู้ช่วยกำกับดูแลให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมกับการลงทุน และยังได้รับการการันตีถึงมาตรฐานนิคมที่ต่างชาติยอมรับ

เรายอมรับว่าการทำนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับ กนอ. มันคือหนึ่งในจุดขายที่สำคัญของโรจนะ นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ที่เป็นเขตนิคม ในบางเงื่อนไขจะได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการส่งเสริมในพื้นที่ EEC ทันที เช่น การถือครองที่ดินได้ ขณะเดียวกันการขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะง่ายขึ้น

Q : พื้นที่รองรับนักลงทุนใน EEC

นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐเองยังมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วพร้อมขายอยู่ 12,000 ไร่ และเราคือหนึ่งที่อยู่ในนั้น ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีก 3 แห่ง คือ นิคมสมาร์ทพาร์ค (มาบตาพุด) จ.ระยอง 1,200 ไร่ และที่ร่วมดำเนินงานกับเอกชน คือ นิคมอุตสาหกรรมซีพี จ.ชลบุรี 3,000 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ (หนองใหญ่ ที่จะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2562 และแหลมฉบัง) จ.ชลบุรี 2,000 ไร่ และ 843.41 ไร่

ทั้งนี้ การจัดตั้งโครงการใหม่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แหลมฉบังขึ้น ในโอกาสวาระครบรอบ 30 ปีของบริษัท ฯ โครงการนี้เป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถเดินทางเข้าโครงการได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ติดกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี) ซึ่งเป็นโครงการแรกของบริษัทฯ ที่ได้ร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย