
สัมภาษณ์
ระยะเวลา 9 เดือนกับการเพาะปลูกอ้อย และอีก 3 เดือนถัดจากนั้น คือ ช่วงของการหีบ นี่คือ วงจรของฤดูพืชไร่อย่างอ้อย ซึ่งการบริหารจัดการและคำนวณต้นทุน ราคาตลาดโลก สภาพอากาศ ทุกอย่างย่อมมีผลต่อรายได้ของโรงงานน้ำตาล
แม้ว่า “นายชลัช ชินธรรมมิตร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL Group ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2568 รายได้น่าจะแตะที่ 19,000 ล้านบาท และมีอ้อยเข้าหีบในช่วงฤดูกาลปี 2567/2568 เพิ่มขึ้น 23% ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอ้อยไฟไหม้ ยังคงสร้างความบั่นทอนให้กับภาคอุตสาหกรรมไม่น้อย
อ้อยเยอะคาดรายได้เพิ่ม 15%
สำหรับปีการผลิต 2567/2568 คาดว่า ปริมาณอ้อยในประเทศจะเพิ่มขึ้น 15-22% หรือ 95-100 ล้านตัน จาก 82 ล้านตัน ในปี 2566/2567 เป็นผลมาจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น และเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ในส่วนของ KSL คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบ 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23% และคาดว่าจะมีรายได้ปี 2568 อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปัจจัยเดียวกันคือฝนมาก อ้อยมาก และมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ใน จ.สระแก้ว
ส่วนราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอยู่ที่ 18-20 เซนต์/ปอนด์ ลดลง 16% จากปีก่อนอยู่ที่ 24-26 เซนด์/ปอนด์ เพราะมีสต๊อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนราคาน้ำตาลตลาดโลกให้สูงขึ้น จากกำลังการผลิตน้ำตาลของอินเดียและจีนที่ลดลงในต้นฤดูกาลหีบปี 2567/2568
หากดูจากปี 2567 ซึ่งเป็นสัดส่วนจากธุรกิจน้ำตาล 80-90% มีรายได้อยู่ที่ 16,442 ล้านบาท ลดลง 11% ผลจากเรื่องของภัยแล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง แต่เรายังมีกำไรสุทธิ 918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เพราะราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่ในระดับสูง และอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า ในส่วนของการขายไฟฟ้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องจากการผลิตน้ำตาลมีรายได้ 1,500 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท จากเรื่องของการปรับลดค่า Ft ของภาครัฐ ซึ่งจะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. 2568 ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
โอดอ้อยกลายเป็นจำเลยฝุ่น
ตอนนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตกเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว ถูกมองเป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อย เรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เราให้ความร่วมมือกับภาครัฐลดปริมาณการรับซื้ออ้อยเผามาตลอด โดยในฤดูกาลหีบ 2567/2568 เรามีปริมาณอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ 17.85% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.4 ล้านตัน ในตอนนี้ ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบอัตราไม่เกิน 25% ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำหนด
อย่างการปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดร เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พยายามขอความร่วมมือและกึ่งบังคับให้ 58 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ งดรับอ้อยไฟไหม้ในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง เป็นเวลา 7 วัน ตอนนั้นเข้าใจว่ารถขนอ้อยมาจอดรอที่หน้าโรงงานน้ำตาลแล้ว เขาก็ต้องรับซื้อไปก่อน แต่มันดันเป็นอ้อยไฟไหม้เสียส่วนใหญ่ เหมือนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู
ในมุมของรัฐเอง เขาก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาฝุ่น ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกฎหมายเอาผิดชาวไร่อ้อยที่เผาอย่างจริงจัง เป็นเพียงการขอความร่วมมือ และกำหนดสัดส่วนรับอ้อยเผาไม่ให้เกิน 25% เพื่อนำไปหักเป็นเงินช่วยเหลืออ้อยสด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว จากสถิติและจุดความร้อนที่เปิดเผยผ่านดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก็เห็นอยู่ว่า ค่าฝุ่นที่สูงในบางพื้นที่ กลับไม่ใช่การเพาะปลูกของไร่อ้อย
แต่เป็นภาคการเกษตรทั่วไป รวมถึงการเผาป่า และส่วนใหญ่สาเหตุที่เกิดฝุ่นในเมืองมาจากรถยนต์ ในขณะที่การเผาไร่อ้อย คือ สัดส่วนที่น้อยกว่ามาก แต่ชาวไร่อ้อยก็ยังคงตกเป็นจำเลยอยู่ดี
รับซื้อใบอ้อยยุ่งยาก-ล่าช้า
เราพูดกันมาทุกปีเรื่องรับซื้อใบอ้อย แต่ในความเป็นจริง มันค่อนข้างยากกว่านั้น ทั้งการจูงใจ เครื่องไม้เครื่องมือก็ยากไปหมด รัฐเองก็ไม่เคยชัดเจนว่าจะช่วยเหลือยังไง จะซื้อเท่าไร จะช่วยเท่าไร อย่างมาตรการล่าสุดจะรับซื้อใบอ้อยตันละ 100 บาท ยังรอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่เลย นี่จะปิดหีบอ้อยแล้ว ยิ่งมาดูในพื้นที่กว่าเขาจะรวบรวมใบอ้อยได้ แต่ละตันมันไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องสางใบรวบรวมให้มันเป็นม้วน ๆ ชาวไร่ไม่มีเครื่องม้วน สุดท้ายก็เอามาขายไม่ได้อยู่ดี ที่ KSL โชคดีตรงที่เราออฟเฟอร์ชาวไร่ให้เกือบทุกอย่าง ส่งเครื่องจักรเข้าไปช่วยเก็บช่วยม้วน เอารถบรรทุกเข้าไปขนออกมา แล้วยังรับซื้อตันละ 1,000 บาท
สิ่งที่ชาวไร่เขาขอ คือ แค่รัฐบอกมาว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย ช่วยเท่าไร ช่วยยังไง ส่วนจะจ่ายให้ตอนไหนนั้นหลังปิดหีบ แม้จะช้าแต่ก็จ่ายได้ เพราะข้อมูลแต่ละโรงงาน มันก็จะมีระบุอยู่แล้วว่ารายไหนตัดอ้อยสด อ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาล วิธีการมันไม่ยาก แค่รัฐต้องชัดเจน เชื่อว่าต่อจากนี้การรับซื้อใบอ้อยจะแย่ลงทุกปี คนที่ซื้ออยู่ตอนนี้เพราะเขายังมีใบอนุญาตโรงไฟฟ้าอยู่ และเขาขายไอน้ำและยังต้องใช้ไฟป้อนให้กับโรงงานน้ำตาล ถ้าจะซื้อแค่ใบอ้อยมาผลิตไฟมันไม่คุ้ม
ขอรัฐไฟเขียวซื้อเครื่องจักรตัดอ้อย
ตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมาตรการที่อนุญาตให้โรงงานเอาส่วนเงินภาษีที่เสียไปแปลงเป็นเงินทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรใช้ในการตัดอ้อย ซึ่งรัฐไม่ต้องควักเงินเลยเพราะมันเป็นเงินจากเอกชน เอาไปกองไว้ที่สมาคมชาวไร่อ้อย ซึ่งมีความเข้มแข็งมาก เขาบริหารจัดการได้ไม่ยาก เอาเงินส่วนนี้ไปซื้อเครื่องจักรราคา 10-12 ล้านบาทก็ยังได้ ปัญหา คือ ติดที่กระทรวงอุตสาหกรรมที่กังวลว่าจะนำเงินไปซื้อเครื่องจักรจริงไหม เครื่องจักรจะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นหรือไม่ และติดเงื่อนไขที่ว่าโรงงานน้ำตาลห้ามรับอ้อยไฟไหม้เกิน 25% เราแค่อยากให้กระทรวงรับรองตรงนี้ให้ ก็ดำเนินการได้แล้ว
นอกจากนี้ รัฐเองควรรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล 500 เมกะวัตต์ ในอัตรา 3.50-3.70 บาท อีก 50 สตางค์ ส่งเข้ากองทุนเพื่อช่วยคนที่ตัดอ้อยสด แบบนี้มันเป็นสากล เพราะถ้าให้เป็นเงินช่วยเหลือเฉย ๆ เขาก็จะว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนอีก
ก.พ.นี้ใกล้ปิดหีบอ้อยมีเผาอีก
มาตรการรัฐที่เพิ่มราคาอ้อยสด 120 บาท/ตัน มันไม่สะท้อนต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด ซึ่งอยู่ที่ 200-250 บาท/ตัน ในขณะที่อ้อยเผามีต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่ 100-150 บาท/ตัน จึงทำให้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยเผาได้ในทุกพื้นที่ ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กำลังตกเป็นจำเลยสังคมที่สร้างมลพิษทางอากาศ กลับมีข้อมูลจากโครงการขายคาร์บอนเครดิตจากอ้อยเปิดเผยถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อ้อยอายุ 1 ปี สามารถดูดซับได้อยู่ที่ 5,800 กิโลกรัมคาร์บอน/ไร่ ถึงแม้ในกระบวนการปลูก ใส่ปุ่ย ตัดอ้อยและขนส่งถึงโรงงาน จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,400 กิโลกรัมคาร์บอน/ไร่
ก็คือ อ้อยสดสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4,400 กิโลกรัมคาร์บอน/ไร่ ขณะที่อ้อยไฟไหม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีก 3,850 กิโลกรัมคาร์บอน/ไร่ ถึงแม้จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนก็ยังสามารถดูดซับได้ 550 กิโลกรัมคาร์บอน/ไร่ ซึ่งไทยมีการปลูกอ้อย 10 ล้านไร่/ปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ถึง 40,000 ล้านกิโลกรัมคาร์บอน/ปี สามารถช่วยลดภาวะเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อนได้
อ้อยสดที่เพิ่มขึ้นตอนนี้เพราะชาวไร่กับโรงงานน้ำตาลถูกกดดันอย่างหนัก เชื่อว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 การเผาจะกลับมาเพราะมันใกล้ปิดหีบ ชาวไร่เขาต้องตัดอ้อยขาย เพราะอายุอ้อยมันถึงเวลาแล้ว ต้องเลือกว่าจะเผาหรือจะเป็นหนี้ ในอนาคตอาจทำให้เขาไม่อยากปลูกอ้อยอีกเลย