
สัมภาษณ์
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถึงปัญหา ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยและการค้าโลก จากผลกระทบทรัมป์ 2.0 สงครามการค้า ท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ตลอดจนการไปสู่พลังงานสะอาดของโลก
ปีนี้ส่งออกลดแต่ลงทุนเพิ่ม
สำหรับความท้าทายใหญ่ของไทยในปีนี้ แน่นอนว่าความท้าทายแรก จะมาจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 ทั้งสงครามการค้า การส่งออกปีนี้อาจจะโตน้อยกว่าปี 2567 ที่โตประมาณ 5% ปีนี้อาจจะได้ประมาณ 1-2% ช่วงแรกอาจจะทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐได้ก่อนเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะโตได้เยอะ
ความท้าทายที่สองคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแปรปรวนกระทบภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีด้านบวกเมื่อโลกมีความไม่แน่นอน ยังมองว่าการลงทุนในไทยยังคงไปได้ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น เพราะไทยพยายามวางตัวตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แล้วเราก็พยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดด้วย ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุน ซึ่งเป็นยอดจำนวนโครงการที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ และมีมูลค่าเงินลงทุน 1,138,508 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี
ชี้ทรัมป์ทำการค้าโลกปั่นป่วน
จากนโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรงในเรื่องของการค้า สหรัฐจะขึ้นกำแพงภาษีทุกประเทศ รวมถึงไทย ประเทศใหญ่ ๆ ก็จะตอบโต้ส่งผลให้เกิดสงครามการค้า เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น อาจจะขึ้นภาษีกับสหรัฐ ทำให้การค้าของโลกชะลอลง เศรษฐกิจโลกโตช้า กระทบราคาสินค้าบางอย่างแพงขึ้น
นอกจากนี้ หากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย จะทำให้เราส่งไปให้สหรัฐยากขึ้น แต่เรื่องนี้เป็นเหรียญสองด้าน มีทั้งบวกและลบ อย่างช่วงยุคทรัมป์ 1.0 ที่สินค้าไทยสามารถเข้าไปแทนสินค้าจีนได้ แต่หากขึ้นสินค้าเวียดนามน้อยกว่าสินค้าไทยก็อาจจะเข้าไปเป็นคู่แข่งและตีตลาดคู่กับเราได้
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องเจรจา ยอมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดแรงกดดัน ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ เช่น สินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อหมู ซึ่งเดิมสหรัฐอยากจะส่งเนื้อหมูมาในไทยกว่า 10 ปีแล้ว แต่ไทยไม่ยอม
นอกจากนี้ เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐได้น้อยขึ้น จำเป็นต้องส่งออกสินค้ามายังไทยมากขึ้น จะทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี สิ่งทอ พลาสติก ซึ่งมองว่ายังไงเราก็สู้จีนไม่ได้อยู่แล้ว
ราคาน้ำมันลด-ปริมาณเพิ่ม 4%
ขณะที่ผลกระทบทางด้านพลังงานก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย เมื่อสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ซึ่งประมาณการในปีนี้อยู่ที่ 75-76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถูกกว่าในปี 2567 ประมาณ 1-2 เหรียญ นอกจากนี้ สหรัฐก็เดินหน้าขุดน้ำมันเต็มที่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้ Supply น้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นราว 4%
“ราคาน้ำมันคงไม่ลงไปเท่าในช่วงก่อนโควิดที่ 65 เหรียญ น่าจะยังอยู่ที่ 75-76 เหรียญ”
โลกยังต้องการพลังงานสะอาด
ในส่วนของผลกระทบทางอ้อม เมื่อทรัมป์ไม่สนับสนุนพลังงานสะอาด ซึ่งจริง ๆ มีกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ในสมัยของโจ ไบเดน ระบุว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว จะมีกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ไปสู่พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว แต่เมื่อทรัมป์จะไม่สนับสนุนกรีน แม้กฎหมายจะยกเลิกไม่ได้ แต่ก็มีอำนาจสั่งไม่ให้ปล่อยเงินกองทุนเพิ่ม ทำให้สิ่งที่กำลังพัฒนาหรือที่กำลังได้รับการส่งเสริมอยู่ก็ต้องหยุดชะงักหรือช้าลง
“มองว่าเทรนด์ของโลกที่ต้องการพลังงานสะอาดจะไม่เปลี่ยน ยุโรป เอเชียก็ต้องลดคาร์บอนกันต่อ ทรัมป์อยู่แค่ 4 ปี หลังจากนี้ สหรัฐก็จะช้ากว่าประเทศอื่นในอนาคต”
ทั้งนี้ สหรัฐเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นใน 4 ปี สหรัฐจะเริ่มปล่อยคาร์บอนแบบมหาศาลส่งผลกระทบกับไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่อันดับ 9 ของโลก เนื่องจากเราอยู่ในโซนสภาวะอากาศน้ำท่วม น้ำแล้ง ประกอบกับเศรษฐกิจต้องพึ่งพาสภาพอากาศพอสมควร เช่น อุตสาหกรรม Data Center ที่จำเป็นต้องใช้น้ำก็อาจจะต้องลำบาก
ขณะเดียวกันมีกฎระเบียบทั้งในยุโรป และญี่ปุ่น ที่กดดันให้ไทยต้องลดคาร์บอน เพื่อเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เข้มงวด และให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ อาจจะไม่เพียงพอ เราควรหาตัวเลือกเพิ่มเติมเข้ามาซัพพอร์ต เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) แต่ปรากฏว่าถูกใส่ไว้ในปลายแผน PDP และมีสัดส่วนเพียงแค่ 1% ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเพียงพอ
แนะรัฐทำแอปกลางเช็กคาร์บอน
พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สำคัญมาก แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าที่จะคลอดและบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งใน พ.ร.บ.จะระบุประเภทธุรกิจที่ต้องจ่ายภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือบางธุรกิจก็จะโดนระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme : ETS) ที่กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าห้ามปล่อยเกินปริมาณเท่าไหร่ ถ้าเกินก็จะต้องจ่ายเพิ่มเติม
แต่ก่อนที่จะเข้าถึงตัวระบบดังกล่าวได้ จะต้องรู้ก่อนว่าเราปล่อยในปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งทุกองค์กรจะต้องเตรียมพร้อมในการปล่อยตามสโคปต่าง ๆ อาจจะต้องคำนวณตลอดทั้ง Supply Chain ในอนาคตอาจจะเข้มข้นขึ้น และต้องมีวิธีการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะมีแพลตฟอร์มที่จะช่วยแนะนำการจัดเก็บข้อมูลให้กับภาคธุรกิจที่อยู่ภายใต้ SET
แต่ที่น่ากังวลคือ ภาคธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ใน SET จะตระหนักหรือเข้าถึงวิธีการคำนวณการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างไร แน่นอนว่าบริษัทที่รับจ้างวัดข้อมูลก็มีราคาแพง ดังนั้นควรจะมีแพลตฟอร์มกลางของภาครัฐที่จะช่วยภาคเอกชนในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้ด้วย