เงินเฟ้อไทย ม.ค. 2568 สูงขึ้น 1.32% เหตุราคาน้ำมัน-อาหาร-ผักกระทบ

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

สนค.เผยเงินเฟ้อไทยเดือนมกราคม 2568 สูงขึ้น 1.32% ปัจจัยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร ผัก ผลไม้สูงขึ้น ทั้งปีคาดอยู่ที่ 0.3-1.3%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนมกราคม 2568 เท่ากับ 100.57 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.32% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 1.23% (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 24 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)

สำหรับเฉลี่ยทั้งปี 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยสูงขึ้น 0.40% (AOA) อยู่ระดับต่ำอันดับที่ 6 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น 1.32% (YOY) ในเดือนมกราคม 2568 นี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.78 (YOY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ
กลุ่มผลไม้สด (ฝรั่ง มะม่วง สับปะรด) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น))

ADVERTISMENT

กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล ปลาทูนึ่ง ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย) และกลุ่มผักสด (แตงกวา ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เห็ด) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ไก่ย่าง พริกสด มะนาว หัวหอมแดง กระเทียม ผักกาดขาว และกะหล่ำปลี เป็นต้น

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.00 (YOY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าโดยสารเครื่องบิน ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว น้ำยาระงับกลิ่นกาย) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษ) เป็นต้น

ADVERTISMENT

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.83% (YOY) เร่งตัวขึ้นจากเดือนธันวาคม 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.79 (YOY)

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 สูงขึ้น 0.10% (MOM) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.18 (MOM) ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผักสด (ผักบุ้ง แตงกวา พริกสด ใบกะเพรา ถั่วฝักยาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล ปลาทู ไก่สด) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว กะทิสำเร็จรูป) กลุ่มผลไม้สด (ฝรั่ง แก้วมังกร มะพร้าวอ่อน)

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง อาทิ หัวหอมแดง ผักชี ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.06% (MOM) ตามการสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ครีมนวดผม น้ำหอม) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ) รวมถึงค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ ค่าโดยสารรถประจำทาง และค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้าและใต้ดิน
จากมาตรการรถไฟฟ้า-รถเมล์ฟรี

แนวโน้มเงินเฟ้อ 2568

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนมกราคม 2568 และแนวโน้มไตรมาส 1 คาดการณ์สูงขึ้นกว่า 1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย

(1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน
(3) ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังไม่เข้าสู่ระดับปกติ หลังจากได้รับผลกระทบของภัยแล้งอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย (1) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและการตรึงราคาก๊าซ LPG (2) ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น และ (3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2568 อยู่ระหว่าง 0.3-1.3% ค่ากลาง
0.8% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง