“เอกนัฏ” ลุยรื้ออ้อยทั้งระบบ แก้ทั้งเกษตรกร-โรงงานน้ำตาล

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ “นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงประเด็นร้อน มาตรการแก้ปัญหาการเผาอ้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งนายเอกนัฏย้ำถึงความสัมฤทธิผลในการลดปริมาณอ้อยเผาเข้าสู่โรงงาน ได้เหลือเพียง 9% ถือว่าต่ำสุดในประวัติศาสตร์

เงินช่วยเหลือมีแน่ แต่รอ ครม.

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลืออ้อยสด และลดการเผาอ้อยไฟไหม้เพื่อช่วยลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการรับซื้อใบอ้อยที่เราเคยประกาศไว้ว่าจะของบประมาณจากรัฐบาล 7,000 ล้านบาท แต่เรื่องยังรอบรรจุเป็นวาระเข้า ครม. ซึ่งหลายคนกังวลว่าโรงงานน้ำตาลจะปิดหีบอ้อยแล้วในอีกไม่กี่เดือน แล้วเงินที่จะนำมาช่วยเหลือจะทันหรือไม่ ผมว่าต่อให้ปิดหีบเราก็ยังช่วยเหลือได้อยู่ดี เพราะปกติเงินช่วยเหลือมันจะได้หลังปิดหีบเพราะมันต้องรอคำนวณก่อน ความตั้งใจคือ เราอยากประกาศก่อนเปิดหีบ แต่เวลาช่วยจริงเราจะช่วยหลังปิดหีบ ค่อยเอาตัวเลขมากางกันว่า ใครตัดสด ใครเผามา

“ตอนที่ผมเสนอไป ผมสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาฯสำนักงานคณะกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศไปให้ทุกคนรู้เลยว่าเราช่วยเหลือแน่ ทั้งในส่วนที่เป็นอ้อยสดและเรื่องของการรับซื้อใบรวมไปด้วยกันเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราจะแยกแค่อ้อยสด อ้อยเผา สิ่งที่เราต้องการเห็น คือ การส่งอ้อยสด 100% ไม่ใช่ชาวไร่ส่งอ้อยสด 80% อ้อยเผา 20% แบ่ง ๆ ส่งมาเข้าโรงงานแบบนี้ไม่ได้”

กดโรงงานรับตัดอ้อย 60 บาท/ตัน

ส่วนประเด็นที่ว่าโรงงานน้ำตาลติดล็อกของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการภาษีที่ได้จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาเป็นเงินทุนซื้อเครื่องจักรนั้น จะพูดต้องพูดให้หมด เพราะในความเป็นจริง “ไม่ได้ติดที่เรา” เราต้องแยกก่อนว่าเรื่องอ้อยเผา เราทำอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ความเข้มงวดในการใช้กฎหมาย เราตกลงกันว่าโรงงานน้ำตาลจะต้องไม่รับอ้อยเผาสัดส่วนเกิน 25% ต่อวัน ไม่ใช่ 0% ด้วยความที่เราเข้มงวดมาตลอด

ล่าสุด ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ปริมาณการรับอ้อยเผามีสัดส่วนเหลือเพียง 9% เท่านั้น ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนที่ 2.เราต้องสร้างแรงจูงใจ ทำยังไงให้ใบอ้อยมีมูลค่า แทนที่จะเข้าไปเผาก่อนแล้วค่อยตัด มันต้องตัดใบแล้วรวบรวมส่งโรงงานน้ำตาลก่อนที่จะตัดต้นอ้อย เพื่อจะเอาใบไปผสมกับกากอ้อยแล้วผลิตไฟฟ้า

ดังนั้น มันต้องกำหนดเรื่องของกฎเกณฑ์ คือ การรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม และพวกอุปกรณ์ที่จะตัดใบรวมไปถึงอุปกรณ์ที่ตัดอ้อยสดที่มีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งเดิมได้รับการส่งเสริมจากบีโอไออยู่แล้ว ปัญหาคือของเดิมติดตรงที่ว่าจะต้องผ่านทางสมาคมชาวไร่อ้อย แล้วก็จะได้สิทธิในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จริง ๆ ถ้าจะทำให้ดีให้ครบวงจร มันควรต้องสนับสนุนผ่านโรงงานน้ำตาลด้วย

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีราคา 10-15 ล้านบาท มีเกษตรกรรายไหนจะไปซื้อได้ มันก็ต้องให้โรงงานน้ำตาลซื้อแล้วให้บริการ แต่ให้บริการเสร็จก็ต้องบอกโรงงานน้ำตาลด้วยว่า ไม่ใช่ไปรับตัดในราคาแพง ๆ ตอนนี้รับตัดกัน 150-200 บาท/ตัน มันต้องเหลือไม่เกิน 60-70 บาท/ตัน ถ้าไม่เกิน 60 บาท เราพร้อมจะให้ ตอนนี้กำลังเจรจาต่อรองกับกลุ่มโรงงานน้ำตาลอยู่ เพราะประโยชน์มันต้องทอนกลับมาหมด คุณไปซื้ออ้อยตัดในราคาถูกเอาไปลดหย่อนภาษีได้ ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ คุณต้องรับตัดในราคาที่ได้รับการส่งเสริม นั่นคือต้องราคาถูกด้วย

สร้างระบบถาวรไม่ทันปิดหีบปีนี้

นี่เป็นครั้งแรกที่เราคิดจะวางระบบการบริหารจัดการอ้อยให้ครบวงจรเต็มรูปแบบ ที่เราบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ข้อดี คือวันนี้เกษตรกรและโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือ แต่สิ่งที่ผมกำลังพยายามผลักดัน ไม่ใช่แรงจูงใจเป็นเงินให้เปล่าทุกปี แต่ต้องเป็นแรงจูงใจที่สร้างระบบเรื่องการส่งใบไปผลิตไฟฟ้า เรื่องนี้สำคัญ เพราะมันต้องขับเคลื่อนด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทุบกระปุกทุกปี ผมจะพยายามเร่งให้เร็วที่สุด แต่ถามว่ามันจะทันปิดหีบนี้ไหม ซึ่งมันก็จะปิดเดือนเมษายน 2568 นี้แล้ว

ADVERTISMENT

“ตอนนี้ผมทำงาน 10 วันเหมือนทำงานมา 10 เดือน มันถึงเวลาที่เราต้องเริ่มนับ 1 ได้แล้ว แล้วคิดอะไรอย่าคิดแบบลูบหน้าปะจมูก มันต้องคิดที่จะปรับและรื้อระบบใหม่ทั้งหมด เพราะว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมันแข็งแกร่งอยู่แล้ว เราส่งออกน้ำตาลเป็นที่ 2 ของโลก มี พ.ร.บ.พิเศษของตัวเอง มันมีทุกอย่างพร้อม คราวนี้มันต้องมาคุย มาคิดกันใหม่ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับระบบมันต้องไปพร้อมกัน ไม่ใช่คุยกับโรงงานน้ำตาลแล้วไม่คุยกับเกษตรกร แบบนี้คนก็งงว่าจะทำอะไรกันแน่ ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อน”

เผาอ้อยแค่ส่วนหนึ่งของ PM 2.5

เราไม่ต้องพูดถึงปีหน้า 2569 เรามาพูดถึงปีนี้ 2568 เรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น เราเห็นตัวเลขอยู่ว่าเผาอ้อยมันลดลง อย่าเอาตัวเลขอื่นมาคุย เพราะถ้าฝุ่น PM 2.5 เรารู้อยู่แล้วว่าต้นเหตุมันมาจากรถยนต์ และส่วนอื่น ๆ อีกเยอะ ถ้าเรื่องอ้อยเผาวันนี้เราเห็นตัวเลขที่ 9% จากปีที่แล้วมันอยู่ที่ 30% ปีก่อนโน้น 60% มันลดลงมาก สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมด มันคือสิ่งที่จะทำให้มันถาวร ไม่ใช่มาคอยแก้ปัญหาคุยกันใหม่ทุกปี

เราต้องไม่สับสนระหว่างเรื่องอ้อยเผากับ PM 2.5 เพราะเรื่อง PM มันใหญ่กว่านั้นมาก อ้อยเผามันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง การจะทำให้ PM 2.5 ลดลง มันต้องทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เรื่องไอเสียรถยนต์ก็ต้องทำ เรื่องการเผาป่า พืชเกษตรตัวอื่น เผาจากนอกประเทศก็มี มันยังมีอีกหลายตัวที่เราต้องไปหาทางช่วยกันแก้

เร่งเจรจาราคาซื้อไฟจากอ้อย

พลังงานชีวมวล (Biomass) เดิมมันเป็นสัญญาเก่า เป็นการรับซื้อไฟฟ้าแบบให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่ม (Adder) กับ Non Adder มั่วไปหมด ของใหม่มันควรเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) กำหนดราคาที่เหมาะสม วันนี้ที่โรงงานน้ำตาลขอมา 3.20 บาท/หน่วย เราต้องไปคุยกับทางกระทรวงพลังงานก่อน

Biomass ประเภทอื่นมันมีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบ เจ๊งไปหลายโรง มันไม่เหมือนระบบอ้อยน้ำตาลทราย เพราะโรงงานน้ำตาลเขามีระบบบริหารจัดการกับวัตถุดิบจากเกษตรกรไร่อ้อยอยู่แล้ว มีทุกอย่างสามารถทำได้เลย ส่วนจะให้โควตา 500 เมกะวัตต์ได้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องดูเป็นสเต็ปไป เพราะตัวใบมันมีคุณสมบัติการเผาไหม้ที่ต่างจากกากอ้อย มันต้องปรับอุปกรณ์นิดหน่อย เพราะถ้าผสมสัดส่วนเกิน บอยเลอร์พัง แล้วก็ต้องไปดูเรื่องการเก็บใบอ้อยมาขายด้วย มันมีขั้นตอนอยู่

ตอนนี้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมี 58 แห่ง ส่วนใหญ่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว เขาผลิตไฟมาทั้งใช้เองและมันต้องขายไฟได้ด้วย มันจึงเป็นที่มาของการรับซื้อไฟ ส่วนราคา 3.20 บาท มันจะกระทบต่อราคาไฟที่ชาวบ้านซื้อหรือไม่นั้น ก็บางส่วน แต่มันมีการรับซื้อไฟที่ราคาแพงกว่านี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราได้ คือ มันเป็นพลังงานหมุนเวียน เรื่องนี้มันจะจบเร็วหรือช้า มันไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐมนตรี แต่มันเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ผมจะสู้ให้ได้ ถ้าอำนาจอยู่ที่ผม ผมจะเซ็นวันนี้ แต่มันก็มีอีกหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เราต้องไปบริหารงานร่วมกัน