ไทย หารือ “องค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีน” เร่งเครื่องศึกษาโรงไฟฟ้า SMRs

ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ-องค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีน ประชุมทวิภาคีสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ หนุนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยนางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปส. และคณะผู้แทนไทย

เข้าหารือทวิภาคีกับนายหลิง จิ้ง รองประธานองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีน (China Atomic Energy Authority-CAEA) และคณะ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ เสริมศักยภาพประเทศไทยสู่การใช้พลังงานสะอาด รองรับนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของรัฐบาลไทย

การหารือครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามใน บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติ

โดยมุ่งเน้นการพัฒนา Small Modular Reactors (SMRs) หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ADVERTISMENT

ในการประชุมทวิภาคี ทั้งสองหน่วยงานเห็นชอบร่วมกันในการตั้งคณะทำงานในการจัดทำแผนที่นำทางภายใต้ MOU โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานประสานงานของกระทรวง อว. โดย CAEA ประเทศจีน ยินดีสนับสนุนกระทรวง อว. ในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย

เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานแบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors, SMRs) ซึ่งตอบโจทย์นโยบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ด้านพลังงานสะอาด ความยั่งยืน

ADVERTISMENT

เพื่อความท้าทายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนและสิ่งแวดล้อมเกิดความปลอดภัยต่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อย่างยิ่งยืน โดยเน้น 4 ประเด็นหลักคือ

-สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน-รณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย และประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์

-จัดทำนโยบายและแผนพลังงานนิวเคลียร์ – กำหนดแนวทางการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

-วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ – พัฒนานวัตกรรมและศึกษาความเป็นไปได้ของ SMRs ในบริบทของไทย

-ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย – การพัฒนาศักยภาพของเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ครอบคลุมการกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และการพิทักษ์ความปลอดภัย

ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

CAEA ประเทศจีนยังพร้อมผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศจีนด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และหน่วยงานในการกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนกระทรวง อว. ผ่านขอบเขตภายใต้ MOU และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ เนื่องจากกระทรวง อว.เป็นกระทรวงที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทย

โดยมีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยนิวเคลียร์ จะเป็นผู้ประสานงานหลักของกระทรวง อว. ในการผลักดันแผนที่นำทาง (Roadmap) ภายใต้ MOU ฉบับนี้ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็น “ก้าวสำคัญของประเทศไทยสู่ยุคพลังงานสะอาด” โดยพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือก ที่ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตแห่งความยั่งยืน