
กรมการค้าต่างประเทศเร่งประเมินสถานการณ์ ค้าชายแดนไทย-เมียนมา หลังปฏิบัติการตัดไฟฟ้า-เน็ต-หยุดส่งน้ำมัน เผยการค้าแนวชายแดนปี 2567 ทะลุ 9 หมื่นล้านบาท ส่วน กสทช.ยันไม่มีปัญหาตัดอินเทอร์เน็ตและสัญญาณมือถือ เพราะสามารถตัดเฉพาะจุดได้ ขณะที่เมียนมายังไม่ปิดด่าน ราคาน้ำมันเมียนมาพุ่งกระฉูดพร้อมจำกัดการเติมด้วย นักวิชาการ ม.แม่ฟ้าหลวง เผยกระทบวงกว้าง
จากกรณีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2568 โดยที่ประชุมพิจารณาประเด็นการระงับการจ่ายไฟฟ้าและการส่งออกน้ำมัน ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา รวม 5 จุด เพื่อสกัดกั้นการดำเนินการของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ และมีมติให้ระงับการจ่ายไฟฟ้า และการส่งออกน้ำมันในพื้นที่ตามแนวชายแดน
ค้าต่างประเทศจับตาเมียนมา
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในระยะสั้นมองว่าจะมีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวเมียนมา บริเวณชายแดนและการประกอบการต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง
แต่สำหรับธุรกิจกาสิโนกับธุรกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ คาดว่ายังคงสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากฝั่งเมียนมาได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบไว้แล้ว โดยนำระบบเครื่องปั่นไฟและระบบโซลาร์เซลล์มาใช้งาน ทำให้ในระยะแรกจะยังไม่กระทบรุนแรง ทั้งนี้ การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าไม่รวมอยู่ในฐานข้อมูลการค้าชายแดน เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้รวบรวมในบันทึกข้อมูลสถิติการจำหน่ายไฟฟ้า
เล็งจัดมหกรรมการค้าแม่สอด
ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนฝั่งเมียนมา รวมทั้งการตรวจปล่อยสินค้า CIQ จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของฝั่งเมียนมา จึงระบุแน่ชัดไม่ได้สำหรับผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะการระงับการส่งออกน้ำมัน อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกน้ำมันไปยังเมียนมาอาจต้องหาช่องทางอื่น ๆ ในการส่งออก
รวมทั้งถ้าธุรกิจกาสิโนปิดกิจการ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกวัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภคทางชายแดนของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อสร้างและขยายโอกาสการค้าชายแดนไทย-เมียนมา กรมมีแผนการจัดมหกรรมการค้าชายแดน ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568
สำหรับพื้นที่ 5 จุดที่ระงับการจ่ายไฟฟ้า และห้ามส่งออกน้ำมัน อยู่ภายใต้พื้นที่ของ 3 ด่านศุลกากร ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สาย ในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 17,129 ล้านบาท ขยายตัว 3.2%, ด่านศุลกากรแม่สอด ในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 68,200 ล้านบาท หดตัว 27.4% และด่านศุลกากรสังขละบุรี ในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 6,455 ล้านบาท ขยายตัว 400% รวมเป็นมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2567 ของทั้ง 3 ด่าน ที่ 91,784 ล้านบาท
OR ชี้ส่งน้ำมันไปไม่มากนัก
นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ และรอคำสั่งจาก สมช. เราแจ้งไปยังลูกค้าว่า Load ไปแล้ว ไม่เปิดก็ไม่สามารถ Load ได้
ดังนั้น OR พร้อมให้ความร่วมมือและขึ้นอยู่กับด่านปลายทางว่าเป็นอย่างไร หากด่านปลายทางอนุญาตให้ออก เราก็ดำเนินการตามสถานการณ์ไป โดย ปตท.ส่งออกน้ำมันไปเมียนมาไม่มากหนัก เพียงประมาณ 10 ล้านลิตรต่อเดือน
ตัดเน็ต-ดับซิม ชายแดน
นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า การตัดสายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และการควบคุมสัญญาณโทรคมนาคมบริเวณชายแดน ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดให้ ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) กว่า 20 ราย ดำเนินการตัดสัญญาณผ่านสายเคเบิลที่ส่งตรงไปยัง IP (ข้อมูลที่จะระบุตำแหน่งของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต) ที่มีความเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งได้รับแจ้งจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม กล่าวเสริมว่า การตัดสัญญาณสายเคเบิลไม่จำเป็นต้องตัดพร้อมกันทั้งหมด สามารถตรวจสอบที่อยู่ IP ของอุปกรณ์ได้ เลือกตัดอินเทอร์เน็ตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากได้รับการยืนยัน
สามารถตัดเฉพาะจุดต้องสงสัย
สำหรับสายเคเบิลบางส่วนได้รับอนุญาตให้เชื่อมต่อกับธุรกิจเอกชนไปยังนอกอาณาเขต ไม่จำเป็นต้องยกเลิกสัญญาณ แต่ให้ตรวจสอบคู่สัญญาว่านำไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ ซึ่งข้อมูลการจราจรทางข้อมูล (Data Traffic) มีกำหนดให้ส่งรายงานทุกเดือน หากยืนยันว่าผิดก็ตัดได้ทันที
ส่วนของคลื่นความถี่บริเวณชายแดน จัดระเบียบเสาและตัวรับส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง เสาที่อยู่ใกล้ชายแดนล้มหมดแล้ว ตัวรับส่งสัญญาณที่หันออกไปทางชานแดนก็หันกลับเข้ามาเรียบร้อยแล้ว ส่วนของซิมการ์ดกว่าแสนซิมในบริเวณเมืองแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น เป็นซิมที่ตกค้างมาหลายปี แต่หากไม่มีสัญญาณก็เปล่าประโยชน์
ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการจัดการบริการโทรคมนาคมโดยสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Site) ในพื้นที่ชายแดนดังนี้ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย, อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีเสาสัญญาณ 366 เสา ระงับสัญญาณ 465 จุด(Sector) ปรับทิศทาง 470 Sector ลดกำลังส่ง 271 Sector รื้อสายอากาศ 179 Sector
สปป.ลาวลดส่งไฟฟ้า
แหล่งข่าวจากเชียงรายเปิดเผยว่า ชายแดนของรัฐฉาน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปกติจะซื้อไฟจากไทย 15-20 เมกะวัตต์ และซื้อไฟจาก สปป.ลาว 30 เมกะวัตต์ ดังนั้นเมื่อทางการไทยตัดไฟ ยังมีไฟของ สปป.ลาวใช้อยู่ 30 เมกะวัตต์แทน แต่ในวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ทาง สปป.ลาวลดการจ่ายไฟเหลือเพียง 13 เมกะวัตต์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล หน่วยราชการ ผู้ประกอบการ และบ้านเรือนประชาชน แม้บางแห่งจะมีเครื่องปั่นไฟใช้ แต่มีปัญหาต้องหาน้ำมันมาเติม
หน่วยทหารรายงานภาพรวม
รายงานข่าวจากหน่วยเฉพาะกิจราชมนู หรือ ฉก.ราชมนู เป็นหน่วยทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 แจ้งว่า เหตุการณ์ในพื้นที่ อ.แม่สอด หลังจากระงับการส่งไฟฟ้าไปในฝั่งเมียนมา และระงับการส่งออกน้ำมัน
สถานการณ์สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 เปิดบริการปกติ รวมถึงบริเวณท่าข้ามสินค้า ในพื้นที่ อ.แม่สอด เหตุการณ์ทั่วไปปกติ
ส่วนการส่งออกน้ำมัน บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และท่าข้ามสินค้า ยังระงับการส่งออก มีรถบรรทุกน้ำมันคงค้าง จำนวน 41 คัน บริเวณ จุดตรวจร่วมตราชั่ง ท่าข้ามสินค้าหมายเลข 10
ราคาดีเซลพุ่ง 63.66 บาท/ลิตร
สำหรับสถานการณ์บริเวณสถานีบริการน้ำมัน ตัวเมืองเมียวดี สถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ในตัวเมืองเปิดให้บริการ แต่จำกัดการเติม โดยรถจักรยานยนต์ จำกัดคันละ 5,000 จ๊าต (80.38 บาท) และรถยนต์ จำกัดคันละ 20,000-30,000 จ๊าต (321.51-482.27 บาท)
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันฝั่งเมียวดี (ปรับราคา วันที่ 6 ก.พ. 68 เวลา 13.00 น.) น้ำมันดีเซล ราคา 3,960 จ๊าต/ลิตร (63.66 บาท) ขึ้น 300 จ๊าต ส่วนน้ำมันเบนซิน 95 ราคา 3,620 จ๊าต/ลิตร (58.19 บาท) ขึ้น 70 จ๊าต
สถานการณ์ในตัวเมืองเมียวดี สถานที่ราชการ, ตลาดบุเรงนอง และโรงพยาบาล ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ และบ้านเรือนของประชาชนบางส่วนไฟโซลาร์เซลล์ สำหรับประชาชนทั่วไปใช้ตะเกียงน้ำมัน
สถานการณ์ในตัวเมืองชเวก๊กโก่ ตรงข้าม บ.วังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลง 50% ขณะที่สถานการณ์ในตัวเมือง KK Park ตรงข้าม บ.แม่กุใหม่ท่าซุง ต.แม่กุ อ.แม่สอด ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลง 40%
มฟล.ชี้ผลกระทบวงกว้าง
ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริบทเชิงพื้นที่ของแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ปะปนกันระหว่างวิถีชุมชนและการค้าข้ามแดน ดังนั้น ผลกระทบจากมาตรการตัดไฟฟ้าและการระงับการส่งออกน้ำมัน จึงมีผลกระทบค่อนข้างมากเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในแง่ความเป็นอยู่การใช้ชีวิตของชาวเมียนมาฝั่งท่าขี้เหล็ก
เพราะไทยส่งไฟฟ้าไปเมียนมาก่อนมีเหตุการณ์ค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นระบบการพึ่งพาอาศัยกันที่มีมายาวนาน แม้เมียนมาจะแก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องปั่นไฟขนาดเล็กและต่อไฟฟ้าจากฝั่ง สปป.ลาวเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็ถือเป็นความยากลำบากของชีวิตผู้คน หากมาตรการตัดไฟฟ้าของไทยกินระยะเวลานานกว่านี้
หวั่นเมียนมาเบรกค้าขาย
ดร.สืบสกุลกล่าวต่อไปว่า หัวใจของแม่สาย-ท่าขี้เหล็กคือการค้าชายแดน สำหรับกรณีการตัดไฟฟ้าและระงับการส่งออกน้ำมัน หากทางการเมียนมาตอบโต้ โดยใช้มาตรการทางการค้า อาทิ ห้ามการส่งออกสินค้าบางชนิดที่ไทยต้องการ หรือจำกัดการขนส่งข้ามแดนก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งต้องรอดูท่าทีของทางการเมียนมาว่าจะมีมาตรการตอบโต้ในเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนผลกระทบระยะยาวต่อภาวะการค้าชายแดน เมื่อฝั่งเมียนมาไม่มีซัพพลายน้ำมัน ประชาชนชาวเมียนมาจะเดินทางข้ามแดนมาซื้อสินค้าฝั่งไทยด้วยความยากลำบากมากขึ้น รวมถึงการขนส่งสินค้ายากลำบากเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อสินค้าในฝั่งไทยลดลง ระยะเวลาในการเดินทางของกำลังซื้อจากฝั่งท่าขี้เหล็กมาฝั่งไทยจะนานมากขึ้น ขณะที่วอลุ่มในการซื้อสินค้าในฝั่งไทยอาจลดลง และอนาคตหากมีการปิดด่านก็จะกระทบต่อการค้าทั้งระบบอย่างปฏิเสธไม่ได้