‘พิชัย’ พบ สว.แทมมี่ ดักเวิร์ธ กระชับสัมพันธ์-แลกเปลี่ยนความรู้

'พิชัย' พบ สว.แทมมี่ ดักเวิร์ธ กระชับสัมพันธ์-แลกเปลี่ยนความรู้

‘พิชัย’ รมว.พาณิชย์ รุกเจรจา สว. สส. เจ้าหน้าที่ระดับสูง ภาคเอกชนสหรัฐ กระชับสัมพันธ์ทางการค้า เดินหน้าดึงดูดการลงทุน เป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเข้าร่วมงาน National Prayer Breakfast 2025 ที่โรงแรม The Washington Hilton ที่เป็นงานสำคัญที่มีผู้นำระดับสูง รวมถึงมีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เข้าร่วม และยังได้เข้าเจรจาหารือกับสมาชิกสภาคองเกรส เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ และภาคเอกชนชั้นนำจำนวนมาก

โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการค้าและดึงดูดการลงทุน อันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร

นายพิชัยระบุว่า ในการเดินทางเยือนสหรัฐในครั้งนี้ ตนได้เข้าร่วมงาน National Prayer Breakfast 2025 ที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นประธานในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน และถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ เช่น สมาชิกสภาคองเกรส รัฐมนตรี ภาคเอกชน และผู้นำจากนานาชาติ

นอกจากนั้น ตนยังได้เข้าพบสมาชิกสภาคองเกรสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ อาทิ สส. Robert Aderholt สส. Tracey Mann สว. Mike Lee สว. Tammy Duckworth และ สว. Pete Ricketts แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภา และ สส. Adrian Smith ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าภายใต้คณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ (House Ways and Means) เพื่อย้ำสถานะของไทยในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ADVERTISMENT

พร้อมชูจุดแข็งของไทยที่เอื้อต่อการค้า-ลงทุน อาทิ ความสำเร็จล่าสุดในการจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา และที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ และแคนาดา ซึ่งจะช่วยเป็นแต้มต่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยในตลาดโลกได้อย่างมากในอนาคต รวมไปถึงไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เช่น Google Microsoft และ Amazon เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง

โดยตนยังได้ผลักดันให้สหรัฐสนับสนุนให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของอเมริกา ทั้งในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB รวมถึงภาคความมั่นคง เช่น การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ (Medical Hub) ในภูมิภาค และขอแรงสนับสนุนจากระดับนโยบายของสหรัฐ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน

ADVERTISMENT

นายพิชัยกล่าวว่า ยังได้มีโอกาสหารือกับภาคเอกชนสหรัฐผ่านสภาหอการค้าสหรัฐ (USCC) และสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐ (USABC) ซึ่งมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมกว่า 26 บริษัท ได้แก่ Nasdaq, FedEx, The Asia Group, PepsiCo, IBM, Mars, Citi, Organin, Intel, Vriens & Partners, ConocoPhillips, Caterpillar, Seagate, Tyson Food, Apple, DGA-Albright, Stonebridge Group, BowerGroupAsia, S&P Global, Visa, Boeing, Dow, Cargill, 3M และ Viatris เข้าร่วมด้วย

ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสการค้าการลงทุน สนับสนุนนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาตั้งการผลิตในไทย ทำให้ปี 2567 ที่ผ่านมา มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และการส่งออกโตปี 2567 ก็โตถึง 5.4% มูลค่ากว่า 10.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังมีข้อตกลง Treaty of Amity ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจสหรัฐสามารถถือหุ้น 100% ในไทย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไทยไม่เคยให้ประเทศอื่น

จากการหารือกับภาคเอกชนของสหรัฐ มุมมองต่อไทยยังเป็นบวก โดยเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นฐานการผลิตที่ดีในภูมิภาค ซึ่งตนยังได้เชิญชวนบริษัทสหรัฐให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล และเกษตรอาหาร และกระทรวงพาณิชย์ พร้อมให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่