IRPC ปี’67 ขาดทุน 5.19 พันล้าน รายได้ลด-สต๊อกลอสฉุด

IRPC

IRPC ปี 2567 ขาดทุน 5.19 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% เหตุรายได้ลด-สต๊อกลอสฉุด กางแผนลงทุน 5 ปี 13,093 ล้านบาท ตั้งแผนจัดหาเงินกู้ 5 ปี (ปี’68-72) เพื่อใช้ในการลงทุน วงเงิน 50,000 ล้านบาท

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลดำเนินงานปี 2567 มีผลขาดทุนสุทธิ 5,193.03 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,923.167 ล้านบาท

โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ จำนวน 281,711 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณขายลดลงร้อยละ 4 และราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 2 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง

สำหรับธุรกิจปิโตรเลียม กำไรขั้นต้นจาการกลั่นตามราคาตลาด (Market Gross Refining Margin : Market GRM) ที่ลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน ที่อ่อนตัวลงจากอุปทานที่เพิ่มขึ้่นของกำลังผลิตใหม่ของโรงกลั่นในแถบประเทศตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา

ขณะที่ ธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้น จากการผลิตตามราคาตลาดกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี (Market Product to Feed : Market PTF) ที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาแนฟทาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค มีกำไรขั้นต้นค่อนข้างคงที่ จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 18,355 ล้านบาท หรือ 7.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 5

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยของปี’67 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยมีปัจจัยกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศ

การลดลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้เกิดการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 2,496 ล้านบาท หรือ 0.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่มีการกลับรายการปรับลดรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับ (กลับรายการ NRV) 953 ล้านบาท หรือ 0.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ADVERTISMENT

และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้น (Realized Oil Hedging) 879 ล้านบาท หรือ 0.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Loss) รวม 664 ล้านบาท หรือ 0.25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 17,691 ล้านบาท หรือ 6.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 3 จากปีก่อน

นอกจากนี้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,476 ล้านบาท ลดลง 1,278 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 22 โดย บันทึกค่าเสื่อมราคา 9,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน เป็นผลจากสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 67

ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินสุทธิ จำนวน 2,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เป็นผลจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามตลาด นอกจากนี้ยังบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายทรัพย์สิน จำนวน 566 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรจากการลงทุน จำนวน 989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนใน บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จำกัด (WHAIER) ที่เริ่มรับรู้รายได้จาการจำหน่ายที่ดินตั้งแต่ไตรมาส 2/67

สำหรับไตรมาส 4/67 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,125 ล้านบาท ขาดทุนลดลงร้อยละ 67 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 3,417 ล้านบาท บริษัทรายได้จากการขายสุทธิ 63,037 ล้านบาท ลดลง 12,259 ล้านบาท หรือร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีสำเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง ร้อยละ 14 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง และปริมาณขายที่ลดลงร้อยละ 2

บริษัทบันทึก NetInventory Gain จำนวน 648 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ที่บันทึก Net Inventory Loss จำนวน 1,986 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมี Accounting GIM อยู่ที่ 6,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,537 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทมี EBITDA 3,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ที่มีผลขาดทุน EBITDA 2,256 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 67 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 184,555 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 114,447 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 70,108 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 67 โดยจัดสรรจากกำไรสะสมส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 67 ในอัตราหุ้นละ 0.01 บาท หรือคิดเป็นเงินประมาณ 204 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เมษายน 2568 กำหนดขึ้น XD วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568

อย่างไรก็ตาม ยังห็นสมควรเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น อนุมัติแผนการจัดหาเงินกู้ 5 ปีของบริษัท (ปี’68-72) เพื่อใช้ในการลงทุน และ/หรือทดแทนเงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ (Refinance) และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และ/หรือการออกหุ้นกู้ และ/หรือตราสารทางการเงินอื่นจากแหล่งทุนในประเทศ และ/หรือต่างประเทศ ในวงเงินเทียบเท่าไม่เกิน 50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการของบริษัทได้มีมติอนุมัติแผนการลงทุน 5 ปี (2568-2572) วงเงินรวม 13,093 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • งบฯลงทุนที่ขอผูกพันต่อเนื่องรวม 3,002 ล้านบาท
  • งบฯลงทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปกติรวม 10,062 ล้านบาท
  • โครงการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรวม 29 ล้านบาท