
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
หลังจากที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เซ็นคำสั่งต่ออายุประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กเส้นในประเทศไทยอีก 5 ปี เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังวิกฤต และยังต้องพบกับการทุ่มตลาดของเหล็กนำเข้าจากประเทศจีนมายาวนาน จนอาจส่งผลให้มีโรงงานเหล็กของคนไทยต้องปิดกิจการเกิดขึ้นอีก
ประชาชาติธุรกิจได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง” ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า และ “นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์” นายกสมาคมเหล็กลวดไทย 2 ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเล่าถึงสถานการณ์เหล็กในปี 2568 ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น และความพยายามที่จะขอให้รัฐเตรียมเซ็นห้ามตั้งโรงเหล็กแผ่น 5 ปีเช่นกัน
10 ปี รง.เหล็กเสียหายหมื่นล้าน
เศรษฐกิจภายในประเทศซบเซา โครงการก่อสร้างใหม่เงียบ มีแต่งานซ่อมแซม ส่วนการใช้เหล็กในประเทศก็น้อยลงทุกประเภทตั้งแต่ปี 2566 และยังเห็นการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนมาต่อเนื่อง มาดัมพ์ราคาทำให้เหล็กที่เราผลิตได้เองสู้ไม่ไหว จนมันวิกฤต ล่าสุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เราเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และติดตามสิ่งที่เราต้องการขอให้รัฐช่วย อย่างห้ามส่งออกเศษเหล็ก ควบคุมสินค้านำเข้า ห้ามตั้งโรงงานเหล็ก ขอเข้าโครงการ PPP ขอให้รัฐออกมาตรการต่าง ๆ ส่งเสริมอุตสาหกรรมกำจัดซากรถ
ที่ผ่านมารัฐก็ช่วยเรา อย่างเรื่องห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้น 5 ปี ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจโรงงานบุกโกดังทลายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถ้าเจอโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะสั่งปิดปรับปรุงก่อน ส่วนตัวสินค้าถ้าไม่ได้มาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เขาก็จะสั่งยึดอายัดสินค้าเพื่อนำไปทำลาย
หากประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเหล็กช่วงที่เกิดวิกฤต 10 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานใหญ่ปิดไป 1-2 โรง หยุดการผลิต 3-4 โรง มูลค่าเสียหายไม่ว่าจะเรื่องจ้างงาน แข่งราคา รวมแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD) ทำแล้วสุดท้ายเขาก็หลบเลี่ยงพิกัด ทำให้รอดทุกครั้ง ศุลากรไม่สามารถเก็บภาษีได้เลย
เรายังเห็นการนำเข้าเหล็ก ตอนนี้เราอยู่ TOP 5 ของโลก หรือนำเข้ามากกว่า 10 ล้านตัน ขณะที่ไทยเองผลิตได้ 6 ล้านตัน เราเห็นว่ารัฐบาลไม่เคยพัฒนาหรือทำให้อุตสาหกรรมเหล็กดีขึ้น ทำให้ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเหล็กกำลังจะตายลงเรื่อย ๆ

จี้รัฐห้ามตั้งโรงเหล็กแผ่นรีดร้อน
ทางกลุ่มเหล็กใช้เวลารวบรวมข้อมูลและคุยกับรัฐมาประมาณ 1 ปีกว่า เพื่อขอให้ออกประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี เหมือนที่ทำกับเหล็กเส้น เพราะเราเห็นแล้วว่า Utilization หรือความต้องการใช้มันอยู่ที่ประมาณแค่ 30% เท่านั้น ซึ่งมันก็จะมีโรงงานของจีนรายหนึ่งพยายามที่จะเปิดเพื่อผลิตเหล็กแผ่นนี้ให้ได้ เขาลงทุนแล้ว สร้างโรงงานแล้ว ตอนแรกเขามีกำหนดเปิดต้นปี แต่มีเรื่องอุบัติเหตุ ทั้งเครนถล่มและโรงงานระเบิดไฟไหม้ แต่เขาก็ยืนยันที่จะเปิดไตรมาส 3 ปีนี้แน่นอน รัฐก็ต้องยอมเพราะเขาขอใบอนุญาตมาก่อน แต่ระหว่างนี้เชื่อว่ามันต้องมีรายที่รีบยื่นขออนุญาตก่อนที่ประกาศจะออกมา
รวม ๆ แล้วโรงงานเหล็กแผ่นรายใหญ่ที่ผลิตในประเทศมี 3 โรงงาน ได้แก่ จีเจสตีล สหวิริยา จีสตีล กำลังการผลิตประมาณ 5 ล้านตัน/ปี ยังไม่รวมของซินเคอหยวนที่จะมีกำลังการผลิตอาจสูงถึง 3-5 ล้านตัน/ปี ยิ่งทำให้ซัพพลายมากขึ้นไปอีก ซึ่งหากมาดูที่ตัวเลขการใช้เหล็กปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านตัน ปี 2567 อยู่ที่ 15-16 ล้านตัน ปี 2568 ก็คาดว่าจะอยู่ที่ 16 ล้านตัน
บางคนมองว่าแล้วเหล็กที่ใช้ในรถยนต์ก็น่าจะมากขึ้น จริง ๆ แล้วรถ 1 คัน ใช้เหล็ก 70% หรือประมาณ 700 กิโลกรัม ยิ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยิ่งใช้เหล็กน้อยลงไปอีก ส่วนโครงการบ้านเพื่อคนไทยนั้น เป็นบ้านแนวราบ ก็ใช้เหล็กไม่มาก มันไม่เหมือนพวกตึกสูงคอนโดฯ มันคงไม่ทำให้การใช้เหล็กเพิ่มขึ้นสักเท่าไร แค่มียอดขายได้เพิ่มมาอีกหน่อยเท่านั้น
ขายใบอนุญาตผลิตต่อให้จีน
ตอนที่โรงงานเหล็กกรุงเทพปิดกิจการ เราก็ไม่เห็นมาตรการอะไรที่รัฐออกมาช่วยเลย สุดท้ายทุกคนก็ลืมเรื่องราวเหล่านี้ แต่พวกเราไม่ลืมเพราะมันถือเป็นปรากฏการณ์ที่ใจหายของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ต่อจากนี้เรายังต้องเห็นการปิดกิจการอีกแน่ แต่ก็อาจเป็นรายเล็ก การที่จีนเข้ามาแข่งจริง ๆ เรายอมรับได้ที่ผู้นำเข้าจะนำเข้ามาขาย
แต่ที่เรายอมรับไม่ได้ คือ เรื่องคุณภาพ เพราะที่ผ่านมาเราพบว่ามันไม่มีคุณภาพ ยิ่งช่วงที่โรงงานเหล็กไทยปิดกิจการเพราะสู้ไม่ไหว มันเริ่มมีการขายใบอนุญาตปล่อยให้เช่าโรงงานต่อ ส่วนใหญ่ก็กลุ่มทุนจีน ไม่แปลกที่เราเรียก “จีนเทา” เพราะเขามาแบบไม่ถูกต้อง มาสวมสิทธิ
ดังนั้นหากรัฐจับได้ว่าโรงงานไหนผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ต้องไปตรวจสอบต่อด้วยว่าเป็นเจ้าของคนเก่าหรือคนใหม่ ถ้าเป็นรายใหม่มาผลิต เจ้าของคนเก่าต้องรับผิดชอบด้วย เพราะถือว่ายอมปล่อยให้คนอื่นใช้โรงงานของตนเองมาผลิตของที่ไม่ได้มาตรฐานมาขายกับคนไทยด้วยกันเอง

ปรับมาตรฐานเตาอินดักชั่น
ตอนนี้สิ่งที่เหล็กลวดกำลังเผชิญไม่ต่างจากเหล็กเส้น เหล็กแผ่น และมาตรการ AD ก็หมดอายุไปแล้ว ส่วนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anticircumvention : AC) จะหมดอายุอีกไม่กี่เดือน เราขอต่อ แต่รัฐยังไม่ได้ตอบรับอะไร ที่เราอยากให้รัฐทำ คือ ตัวเหล็กลวด ไม่ควรใช้กระบวนการจากเตาอินดักชั่น ซึ่งเรื่องการผลิตมันมีการถกเถียงกันมาตลอดว่า เตาอินดักชั่นเฟอร์เนซ (IF) กับเตาอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ (EF) หรือเตาอาร์กไฟฟ้า มันมีกระบวนการที่แตกต่างกันที่มีผลต่อคุณภาพเหล็ก
เราห่วงคือการใช้เตาอินดักชั่นกับเหล็กลวดเพราะมันจะไม่สม่ำเสมอ จึงมีการพยายามที่จะปรับค่ามาตรฐานเตาหลอมใหม่ โดยเฉพาะส่วนผสมทางเคมีของเหล็ก ที่จะต้องมีส่วนผสมของโบรอน 0.0008% ขึ้นไป (+8 PPM) รวมไปถึงการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กลวดเช่นเดียวกัน ก่อนนี้เราเคยผลิตได้ 2.4 ล้านตัน/ปี ตอนนี้เหลือแค่ 1.8-1.9 ล้านตัน/ปี ตลาดมันไม่ได้ลดลงมาก แต่การนำเข้าแบบสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น นอต ตะปู สกรู เอาเข้ามาหมดแล้ว ไทยจะเหลืออะไรผลิตมาขายได้อีก แม้ว่าตอนนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะไม่ให้การส่งเสริมกิจการเหล็กแล้ว แต่มันก็ไม่ทันแล้ว ต่างชาติเขามาตั้งโรงงานแข่งกับเราหมดแล้ว
ที่เราต้องเข้มกับเหล็กลวดเพราะคุณสมบัติมันต้องสูง ต้องแข็งแรง เชื่อมได้ ดัดได้ ไม่มีรอยร้าว ที่สำคัญ คือ เหนียว เพราะเหล็กตัวนี้มันต้องไปลดขนาดด้วยวิธีรีดเย็น หากคุณภาพไม่สม่ำเสมอ มันมีผลต่อการก่อสร้างแน่นอน แต่ผู้ซื้อผู้ใช้ไม่มีทางรู้ ไม่มีใครมานั่งดูว่าเหล็กตัวนี้มีค่าสารประกอบครบไหม บางคนดูแค่ว่ามี มอก. คือจบ มันกลายเป็นปัญหา ในเมื่อผู้บริโภคไม่มีความรู้ คนที่ต้องทำงานมากขึ้น ก็ต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่ตรวจสอบ สมอ.ก็พยายามปรับปรุง เข้มงวดรีวิวมาตรฐานทุกปี แต่มันก็ไม่พ้นเรื่องการลักลอบนำเข้า ลักลอบผลิต ปี 2568 อุตสาหกรมเหล็กยังไม่ฟื้นและราคาตก ความต้องการใช้น้อย จะเป็นอีกปีที่เหนื่อยมาก