
ไม่ถึง 1 เดือน หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน หรือ America First Trade Policy ได้สร้างความวุ่นวายทางการค้าไปทั่วโลก เมื่อทรัมป์เริ่มกระบวนการขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าที่เห็นว่า ทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ จากตัวเลข “เกินดุล” การค้าที่สูงลิ่ว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก-แคนาดา และจีน แม้จะไม่ถึงอัตราสูงสุดตามที่ได้ประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ “คำขู่” แต่เป็นการขึ้นกำแพงภาษีของจริง ขึ้นอยู่กับว่า จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
ในขณะที่สถานการณ์ของประเทศไทย ตัวเลขการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ล่าสุด (ม.ค.-พ.ย. 2567) ปรากฏไทยเป็นฝ่าย “เกินดุล” การค้ากับสหรัฐถึง 4.15 หมื่นล้านเหรียญ หรืออยู่ในอันดับที่ 10 จากจีน ที่เกินดุลการค้าสหรัฐ เป็นอันดับ 1 ด้วยตัวเลข 2.704 แสนล้านเหรียญ รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก 1.572 แสนล้านเหรียญ และเวียดนาม 1.131 ล้านเหรียญ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลต้องวิตกกังวลกับตัวเลขเกินดุลที่ปรับสูงขึ้น ท่ามกลางความเชื่อหลากหลายที่ว่า สุดท้ายแล้ว สหรัฐจะตอบโต้ประเทศไทยด้วยกำแพงภาษีหรือไม่ หรือหากขึ้นภาษีก็จะขึ้นไม่มากนัก จากความเชื่อที่ว่า ไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์ทางการค้า-การลงทุนมาอย่างยาวนาน ในฐานะมิตรประเทศ
“ทรัมป์” ขึ้นภาษีทั่วโลก
จากความกังวลที่ว่านี้ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้ฉายภาพหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีว่า ทรัมป์ทำทุกวิธีการ ทั้งขู่ ทั้งขึ้นกำแพงภาษีจริง แม้จะยังไม่ถึงอัตราที่ประกาศไว้ (กรณีจีน 60%) และการเปิดการเจรจาต่อรอง ผสมปนเปกันไปหมด ทั้งเรื่องการค้าและการเมือง โดยใช้กลยุทธ์จะขึ้นกำแพงภาษีกับทุกประเทศ จนทุกประเทศต้องเตรียมรายการสินค้าที่จะซื้อจากสหรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปเจรจาต่อรอง
แต่สุดท้ายก็จะถูกขึ้นภาษีอยู่ดี เพียงแต่การขึ้นภาษีกับประเทศนั้น ๆ จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ทุกคนจะถูกขึ้นภาษีหมด เพราะทิศทางของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็คือ การขึ้นภาษี ไม่ได้ขึ้นภาษีเฉพาะ “จีน” เท่านั้น แต่เป็นการขึ้นภาษีทั่วโลก เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ให้โรงงานย้ายกลับเข้าไปทำการผลิตในสหรัฐ กับการปรับเปลี่ยนวิธีการหารายได้ของรัฐบาลสหรัฐเอง
“ถ้าคุณอยากค้าขายกับสหรัฐ ก็ต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้าในสหรัฐ สิ่งนี้แตกต่างไปจากทรัมป์ 1.0 หรือทรัมป์สมัยแรก ที่ตอนนั้น สหรัฐประกาศสงครามทางการค้ากับจีน บีบจีนอย่างเดียว ให้จีนหันมาเจรจาจะซื้อสินค้าและบริการอะไรบ้างจากสหรัฐ เพื่อลดการเกินดุลการค้าสหรัฐ ด้วยการตั้งตัวเลขมูลค่าสินค้าที่จีนจะซื้อจากสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น เพราะสหรัฐก็ยังขาดดุลการค้ากับจีนอยู่ดี
แต่นโยบายเปิดสงครามการค้ากับจีนของทรัมป์ 1.0 นั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ จากคลื่นการลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากโรงงานในจีน ออกมายังประเทศนอกจีน ไปตั้งโรงงานที่เวียดนาม รวมทั้งไทย เพื่อผลิตสินค้าส่งกลับเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐ หนีสงครามการค้า อานิสงส์จากโรงงานที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยที่เห็นชัดเจนก็คือ ไทยเป็นฝ่ายที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” ดร.อาร์มกล่าว
ทำสงครามภาษีกับทุกประเทศ
อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รอบที่ 2 หรือทรัมป์ 2.0 ครั้งนี้ นโยบายทางการค้าแตกต่างไปจากทรัมป์ 1.0 มาก เพราะนี่ไม่ใช่การเปิดสงครามการค้ากับจีนประเทศเดียว แต่เป็นสงครามการค้ากับทุกประเทศ เริ่มต้นจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก-แคนาดา แม้จะมีข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐก็ตาม แต่มีหลายประเทศเข้าไปตั้งฐานการผลิตใน 2 ประเทศนี้ แล้วส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ ส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศ “เกินดุล” การค้าเป็นอันดับต้น ๆ
ปัญหาก็คือ ประเทศไทยในฐานะประเทศที่เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 10 กับสหรัฐอยู่ในขณะนี้ จะทำอย่างไร ดร.อาร์มกล่าวว่า จะต้องดูสถานการณ์ตอนนี้ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยต้องอยู่ในฐานะของการถูก “บีบ” ถึง 3 ทาง หรืออาจเรียกได้ว่า “สามบีบ”
โดยบีบที่ 1 ก็คือ ตลาดสหรัฐ มีแนวโน้มที่ต่อไปจะตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่า จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
บีบที่ 2 ตลาดจีน ซึ่งก็จะไปยากขึ้น เพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว สินค้าที่จีนส่งออกไปสหรัฐ เมื่อไปสหรัฐไม่ได้ แล้วสินค้าจะไปไหน การแข่งขันภายในตลาดจีนระหว่างผู้ผลิตด้วยกันเองก็จะดุเดือด และสุดท้าย สินค้าเหล่านี้ก็จะทะลักออกสู่ตลาดนอกประเทศ รวมทั้งตลาดไทย ส่วนกรณีสินค้าไทยจะเข้าไปขายแข่งในตลาดจีนนั้น “มันก็ไม่ได้ง่าย ๆ ทั้งเรื่องต้นทุนอะไรต่าง ๆ”
และบีบที่ 3 ก็คือ ตลาดโลกที่เหลืออยู่ก็จะต้อง “หดตัวลง” เพราะทุกประเทศเจ็บตัวหมดจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ยุโรป-ญี่ปุ่น ก็จะถูกทรัมป์ซัดหมดไม่เหลือ ใครจะเจ็บน้อยกว่าเพื่อน มีความเป็นไปได้ว่า จีนอาจจะทนได้ดีกว่าสมัยทรัมป์ 1.0 เพราะจีนไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐมากเหมือนตอนช่วงนั้น จีนได้มีการกระจายตลาดส่งออกไปยังหลาย ๆ ประเทศ ไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐเพียงอย่างเดียว ขณะที่ประเทศไทยเองจะถูกบีบทั้ง 3 ทาง แล้วจะทำอย่างไร
ข้อแนะนำทางรอดวิกฤต 3 บีบ
ในเรื่องนี้ ดร.อาร์มแนะนำว่า 1) จะต้องเจรจากับสหรัฐ ด้วยความพยายามที่จะยืดเวลาการถูกขึ้นภาษี หรืออาจจะเรียกว่า เป็นการซื้อเวลาก็ได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ไทยก็อาจจะถูกขึ้นภาษีอยู่ดี เพราะแนวโน้มนโยบายทรัมป์รอบนี้ตั้งใจทำสงครามการค้ากับทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ แต่ไทยควรถูกขึ้นภาษีให้ช้าที่สุด และมีอัตราน้อยที่สุด ในระหว่างนี้ ไทยเองก็ต้องรีบเร่งปรับตัวกระจายตลาดสู่ตลาดใหม่ ๆ ไปด้วย
2) ตลาดจีน จะต้องเจรจาให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความเท่าเทียมทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้าสินค้าออนไลน์ และ 3) การหา “ตลาดใหม่” เพิ่มเติมจากตลาดสหรัฐ และตลาดจีนที่จะถูกบีบ ถือเป็นการกระจายตลาดนอกเหนือไปจาก 2 ตลาดหลัก หาตลาดใหม่เข้ามาเพิ่มเติม อาทิ ตลาดเอเชียใต้ ละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกา เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งการเน้นขับเคลื่อนพลังการบริโภคในประเทศ
“ความจริง ตลาดใหม่เหล่านี้ ไทยก็ทำการค้าอยู่แล้ว แต่ปริมาณการค้ายังน้อย ต้องเจาะตลาดให้มากขึ้น ยิ่งเรากระจายตลาดได้เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่จะพึ่งพาตลาดหลัก ๆ อย่างจีน-สหรัฐ ก็จะลดลง” ดร.อาร์มกล่าว