
ส.อ.ท. เผยระเบียบจัดซื้อใหม่ตั้งแต่ปี 2565 ทำสินค้าไทยจาก MiT ได้งานรัฐ 15% กว่า 102,000 ล้านบาท หวังเพิ่มสัดส่วนได้ถึง 80% ทำเม็ดเงินมหาศาลหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้าน โชว์ 10 หน่วยงานซื้อมากสุด “กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง กองทัพบก” ด้าน “พิชัย” รมว.คลัง ยอมรับสัดส่วนยังน้อยจ่อเพิ่มได้อีก ให้ผู้ประกอบการใช้แต้มต่อให้มากที่สุด สู้การแข่งขันก่อนการค้าระหว่างประเทศบีบจนต้องใช้ของนอกเหมือนเดิม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงาน ปลุกพลังสินค้าและเศรษฐกิจไทยด้วย MiT และพิธีมอบโล่หน่วยงานที่มีสัดส่วนการจัดซื้อสินค้า Made in Thailand (MiT) ภายใต้งาน FTI EXPO 2025 ว่าโลกยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนและความท้าทาย ผลกระทบที่ส่งผลหนักที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจบวกกับนโยบายทรัมป์ 2.0 ทำให้หลายประเทศถูกกีดกันทางการค้า จำเป็นที่ต้องปกป้องตนเอง

ส.อ.ท.จึงมีโครงการ MiT และช่วย SMEs ผ่านกลไกของ 47 กลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาจากหลายวิกฤตทำให้ SMEs ล้มหายตายจาก แต่โครงการ MiT ได้เข้ามาสนับสนุนให้คนไทยซื้อของคนไทยเอง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลังมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เพราะเดิมการใช้ระบบประมูลแบบราคาถูกที่สุด ซึ่งนั่นมันไม่ใช่สินค้าไทย ในแต่ละปีจึงไปจัดจ้างสินค้าต่างประเทศ
และตั้งแต่ปี 2565 หลังมีระเบียบจัดซื้อใหม่ออกมา พบว่ารัฐซื้อสินค้า MiT สูงถึง 15% มูลค่ากว่า 102,000 ล้านบาท มันคือแสงสว่างและคือทางที่ถูกต้อง ยิ่งภาวะการแข่งขันและเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ หากเราได้สัดส่วน 50% มูลค่ามันจะสูงถึงหลายแสนล้านบาท มันจะวนอยู่ในระบบเศรษฐกิจและช่วย SMEs การจับมือกันของรัฐและเอกชนมันจึงคือทางรอด MiT จับต้องได้จริงและเกิดขึ้นได้ คาดหวังในอนาคตหากสัดส่วนการซื้อเพิ่มได้ถึง 80% เม็ดเงินจะเกิดเป็นพายุเศรษฐกิจมหาศาลเข้ามาในระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ออกประกาศเรื่องการกำหนดใช้สัดส่วนสินค้าที่ผลิตในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐไม่น้อยกว่า 60% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง นับตั้งแต่ปี 2563 จากนั้นมาทำให้บริษัทคนไทยเริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียน MiT กับทาง ส.อ.ท. สินค้าคนไทยที่ผลิตขายในประเทศได้ส่วนแบ่งงานจากภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องมีสัดส่วนถึง 90% ของมูลค่าโครงการ รวมไปถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โดยปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมามีบริษัทสมาชิกได้งานถึง 1,600 บริษัท รวมมูลค่ากว่า 102,000 ล้านบาท นี่จึงเป็นแต้มต่อและการแข่งขัน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน MiT แล้วกว่า 5,000 กิจการ ครอบคลุมมากกว่า 60,000 รายการสินค้า โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับการรับรองมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์งานก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ และปูนซีเมนต์
นอกจากนี้ โครงการ MiT ยังช่วยกระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจไทยผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอีกด้วย สำหรับหน่วยงานรัฐที่มีสัดส่วนการจัดซื้อสินค้า MiT ด้วยวิธี e-Bidding มากที่สุด ได้แก่ 1.กรมชลประทาน 2.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3.การไฟฟ้านครหลวง 4.การประปานครหลวง 5.กองทัพบก 6.กรมทางหลวง 7.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 8.การประปาส่วนภูมิภาค 9.กรมธนารักษ์ และ 10.กองทัพเรือ
ทั้งนี้ หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนสินค้า Made in Thailand (MiT) ได้แก่ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า SMEs จะเป็นทั้งรากฝอยและรากแก้วของโครงสร้างเศรษฐกิจ เดิมเมื่อ 25 ปีก่อนเรามีการลงทุนจากต่างประเทศที่ค่อนข้างสูง มันทำให้เกิดการลงทุนในระลอกต่อไปกับผู้ประกอบการในประเทศทั้งรายเล็กรายใหญ่ เราเคยมีเงินลงทุน 30-40% ของ GDP แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 20% นั่นสะท้อนว่าการลงทุนในประเทศไทยมันขาดหายไป

ซึ่งหลายคนอาจมองว่า เพราะไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา มันไม่มีคนเริ่มมันจึงไม่มีการลงทุนจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไม่ทันตามบริบทของโลก วันนี้เรารู้ตัว เราตั้งใจเปลี่ยน ถ้าเราไม่ทัน SMEs จะมีปัญหา ที่เราต้องทำวันนี้คือ 1.จะทำอย่างไรให้ SMEs เรามีขีดความสามารถทำธุรกิจร่วมกับเอกชนขนาดกลางและใหญ่ อุตสาหกรรมการผลิต บริการ การเงิน จะต้องพึงพานวัตกรรมให้มากขึ้น
2.ความเร็วในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เศรษฐกิจดิจิทัลจึงคือทิศทางที่โลกจะต้องไป ในขณะที่โลกร้อนกำลังเกิดขึ้นด้วยการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ทุกคนต้องเดินไปทางนั้น คือเรื่อง GREEN Economy เพราะไม่ทำมันจะมีผลต่อการค้าขายกันระหว่างประเทศ รวมถึงในประเทศด้วยเช่นกัน
สำหรับ SMEs หลายรายจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ด้วยการอัพสกิล รีสกิล อัพเกรดโครงสร้างธุรกิจให้สอดรับกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น การนำเอาเรื่องนวัตกรรมเข้ามาใช้ ดิจิทัล กรีน เรื่องของ BCG ความสะอาด สิ่งแวดล้อม ต้องทำแม้ว่ามันจะเป็นต้นทุน แต่มันทำให้สินค้าดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น หากเปลี่ยนก่อนต้นทุนเกิดก่อนแต่รอดก่อน
MiT เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การสนับสนุนสินค้าไทยผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะช่วยลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย และกระจายรายได้สู่ประชาชนในทุกระดับ หากดูงบประมาณที่ใช้ลงทุนแต่ละปีประมาณ 800,000 ล้านบาทนั้น มาซื้อขายกับภาครัฐได้ประมาณ 10% กว่าเท่านั้น มันยังเป็นตัวเลขที่น้อยอยู่ เชื่อว่ามันน่าจะเพิ่มได้อีก
เพราะ MiT มันมีคณะกรรมการกลั่นกรองคุณภาพสินค้าอยู่ ดังนั้น เรามีแต้มต่อแล้วที่เหลือเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่โลกต้องการ แข่งขันได้ ผู้ประกอบการควรใช้แต้มต่อที่มีอยู่นี้ให้ได้มากที่สุด ด้วยการซื้อขายกับภาครัฐและนำไปสู่การเรียนรู้