ไทยรับไม้ต่อ “ประธานอาเซียน” ปี”62

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

หลังจากที่อาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ได้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 อาเซียนได้จัดทำแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เรียกว่า AEC Blueprint 2025 เพื่อกำหนดทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปี (2559-2579) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการรวมกลุ่ม และรับมือต่อประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยอาเซียนได้จัดการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่อาวุโส รัฐมนตรี และผู้นำประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานของอาเซียนไปสู่เป้าหมาย

ในแต่ละปีสมาชิกอาเซียนจะผลัดกันทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุม ในปี 2562 เป็นวาระที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2561 โดยในการเตรียมการของไทยเพื่อรับไม้ต่อจากสิงคโปร์ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสารัตถะ ด้านพิธีการและอำนวยการ ด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร และด้านประชาสัมพันธ์ เพื่อเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของไทย

ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ประสานงานหลักด้านเศรษฐกิจ ได้เตรียมการเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2562 ดังนี้

1) การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister : AEM) 2 ครั้ง เพื่อติดตามการดำเนินการภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) และมอบนโยบายการทำงานของอาเซียน ขณะที่ AEM จะหารือกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ ในช่วงก่อนหรือหลังการประชุม AEM ด้วย โดยปัจจุบันอาเซียนมีประเทศคู่เจรจาถึง 11 ประเทศ ที่มีการพบปะหารือกันเป็นประจำทุกปี ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหภาพยุโรป

2) การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration : HLTF-EI) 2 ครั้ง เพื่อติดตามความก้าวหน้าในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียน และมีข้อเสนอแนะระดับนโยบายให้ AEM พิจารณา

3) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting : SEOM) 3 ครั้ง ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้บรรลุผลตาม AEC Blueprint 2025 โดยกำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการรายสาขาต่าง ๆ

นอกจากนี้ ประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในแต่ละปีจะต้องกำหนดแนวคิดการประชุม (theme) และประเด็นสำคัญที่จะเสนอให้อาเซียนร่วมกันผลักดันให้ประสบความสำเร็จ โดยในส่วนของไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา theme เพื่อนำเสนอคณะกรรมการระดับชาติพิจารณาตัดสินใจ ล่าสุดปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องการผลักดันหรือให้เกิดผลลัพธ์ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 33 หน่วยงาน

คณะทำงานได้ประชุมกันไปบ้างแล้ว เตรียมเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เห็นควรให้ไทยผลักดันในเวทีอาเซียน ซึ่งประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญและน่าจะผลักดันให้เกิดประโยชน์ร่วมในอาเซียน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่ตอบโจทย์แนวโน้มของโลก ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของอาเซียนได้