
คณะกรรมการนโยบายประมง “รับทราบ” โต้มีล็อกอีกชั้น อำนาจ รมต.กำหนดพื้นที่-เงื่อนไขทำประมงนอก 12 ไมล์ทะเลได้
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติว่า ที่ประชุมรับทราบการแก้ไขปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ในมาตราที่เป็นปัญหาคือ มาตรา 69 ว่าด้วยการอนุญาตให้กลุ่มเรือประมงพาณิชย์ หันกลับมาใช้ “อวนล้อมจับ” หรือ “อวนตามุ้ง” ได้อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ในการแก้ไขมาตรา 69 เดิม เขียนไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 ซม. ทำการประมงในเวลากลางคืน” ถูกแก้ไขเป็น “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 ซม. ทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน” และ “การทำประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลตามวรรค (1) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและพื้นที่ตามที่ รมต.ประกาศกำหนด ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย
โดยการแก้ไขร่าง พรบ.แก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ข้างต้น สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติ ”เห็นชอบ“ ร่างในวาระที่ 2 และ 3 ไปแล้ว ท่ามกลางการ ”คัดค้าน“ อย่างหนักจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ในความกังวลที่ว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกใน กม.ไทยที่อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ ล้อมจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืน ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศวิทยา กระทบกับพันธุ์สัตว์น้ำ (ลูกสัตว์น้ำ-ตัวอ่อน) ที่จะถูกอวนตาถี่กวาดจับขึ้นไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เครื่องมือประมงอ้วนล้อมจับได้ถูกห้ามและควบคุมมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว
“ข้อความแก้ไขที่ว่า ห้ามทำการประมงอวนล้อมจับที่มีตาข่ายเล็กกว่า 2.5 ซม. ทำการประมงในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งก็เพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน แต่การแก้ไขดังกล่าวสาระสำคัญก็คือ การเปิดทางให้กองเรืออวนล้อมจับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือจับปลากะตัก สามารถใช้แสงไฟล่อจับปลาได้นอกเขต 12 ไมล์ทะเลนั่นเอง”
ดังนั้นการแก้ไขมาตรา 69 จึงมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้แก้ (กองเรืออวนล้อม รวมทั้งกรมประมง) มีความเห็นว่า การอนุญาตให้ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับตาข่ายอวนเล็กกว่า 2.5 ซม.จะเป็นความ “ยืดหยุ่น” ในการบริหารจัดการเพื่อนำสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ได้สูงสุด
ขณะที่ฝ่ายคัดค้าน (ชาวประมงพื้นบ้าน) เห็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการทำประมงทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนวัย ทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยาอย่างร้ายแรง เพราะอวนตามุ้งจะกวาดจับลูกสัตว์น้ำ ฝูงปลาเล็กปลาน้อยขึ้นมาหมด
อย่างไรก็ตาม กรมประมงอ้างว่า แม้จะมีการแก้ไขมาตรา 69 ผ่านออกมาบังคับเป็นกฎหมายออกเป็น พ.ร.บ.จริง แต่การทำประมงนอกพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลด้วยอวนตามุ้ง จะต้องออกเป็น “ประกาศ” หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และ “พื้นที่” ที่จะอนุญาตให้ทำการประมงตามที่ รมต.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แสงไฟล่อให้ปลาเข้ามาติดอวน
หรือเท่ากับว่า หาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ แต่ก็ยังมีประกาศกระทรวงเกษตรฯที่จะออกตามมาเป็นตัว “ล็อก” วิธีการและเงื่อนไขในการใช้อวนตามุ้งอยู่อีกชั้นหนึ่ง