
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 59.0 ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน ได้แหล่งกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่ผลกระทบอย่างปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังไม่รุนแรง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 59.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 57.9 ในเดือนธันวาคม 2567 โดยปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100
ทั้งนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในอนาคต ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ดีอย่างต่อเนื่อง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงภายในประเทศ และนอกประเทศ
“ทิศทางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะการเมืองภายในประเทศนิ่ง ซึ่งขณะนี้พรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากท้ายสุดมีการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา และทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ ก็จะเป็นปัจจัยลบที่ต้องตามต่อไป แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นปัจจัยลบที่มีความรุนแรง”
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ราว 3-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่เข้ามาขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเข้ามาอยู่ที่ 38-40 ล้านคน สงครามการค้าสหรัฐและจีนยังมองว่าไม่รุนแรงและไม่กระทบมากนัก โดยยังต้องจับตาในช่วงเดือนเมษายน 2568 นี้ รวมไปถึงปัญหาสงครามจะไม่รุนแรง
นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 59.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 57.9 ในเดือนธันวาคม 2567 โดยปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 โดยการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นฯ เป็นผลจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 52.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 56.2 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ เกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 68.1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่ตุลาคม 2567 แต่ยังต่ำกว่าปกติ
แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำและรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยง ภาวะสงครามทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการจ้างงาน มีโอกาสฟื้นตัวช้า ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของผู้บริโภค