
เปิดคีย์ “CEO ปตท.” ชูยั่งยืน-สร้างสมดุลผสานร่วมกับธุรกิจ ยกจุดแข็งบริษัทในเครือลุย CCS-ไฮโดรคาร์บอนสู้ Climate Change ลดก๊าซเรือนกระจก
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงาน “FTI EXPO 2025” ภายใต้การเสวนาใต้หัวข้อ “รวมพลังสู่การดำเนินธุรกิจยุคใหม่อย่างยั่งยืน” ว่า
เราต้อง Integrate ความยั่งยืนให้เข้ากับธุรกิจ ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลของแต่ละองค์กรให้เหมาะสมทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สำหรับ ปตท. ที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติและบริษัทในตลาดทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ดังนั้น จึงเน้นทำธุรกิจที่ถนัด คือ น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ (Oil & Gas) ให้มีความมั่นคงในประเทศและเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งเราจะทำเรื่องไฮโดรคาร์บอนและแก๊สธรรมชาติอย่างเดียวโดยไม่สนใจภาวะโลกร้อนไม่ได้ เราจึงต้องลดคาร์บอนร่วมไปด้วย นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดร.คงกระพันกล่าวต่อไปว่า ปตท. มี Mandate คือ ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเมื่อ 4-5 ปีก่อนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การไม่มีพลังงานเพียงพอ น้ำมันราคาแพงตามการผันผวนของราคาโลก ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ ปตท. ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น
กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย คาดว่าอีก 20-30 ปีจะสามารถเปลี่ยนผ่านได้ ระหว่างนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้ Hydrocarbon ซึ่งแก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ Practical ที่สุด เนื่องจากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถ่านหิน มีสำหรับการนำมาใช้เกือบ 60% และนำเข้าราว 30% ก็ถือยังเป็นแนวโน้มที่ดี
ดังนั้น แก๊สธรรมชาติคือ Transitional Fuel แต่จะใช้อย่างไรไม่ให้กระทบกับการลดโลกร้อน ปตท.จึงมีสเกลใหญ่ในการลดคาร์บอน ผ่านการปรับพอร์ตและผลิตภัณฑ์ Life Cycle ให้ Carbon Footprint ลดลง ถ้าทำได้เราก็ทำไป
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงกลั่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปตามเป้าหมาย Net Zero โดยไม่มีการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในประเทศและประเทศไทยก็มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะดำเนินการได้ อย่างหลุมเก็บปิโตรเลียมใต้ทะเล ก็สามารถใช้เป็นพื้นที่การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ได้ แม้ว่าต้นทุนดำเนินการในปัจจุบันจะยังแพงอยู่ แต่การเริ่มดำเนินการในขณะนี้ก็อาจส่งผลให้ต้นทุนในอนาคตถูกลงได้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสุดใจ
โดย ปตท.จะเป็นเสาหลักขับเคลื่อนเรื่องนี้ และต้องทำให้ต้นทุนถูกลงเรื่อย ๆ ไม่ควรให้เกิดการอุดหนุนในระยะยาว ซึ่งช่วงแรกอาจต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นก่อนและทยอยลดการอุดหนุนลง