ใช้ไม้ยืนต้นหลักประกันกู้เงิน ยื่นจดเป็นแสนแต่ ธ.ก.ส.รับแค่ 1,500

ไม้ยืนต้น ทุเรียน

พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 มีการประกาศพระราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ไม้ยืนต้น เป็นหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันได้ จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับจดทะเบียนทรัพย์สิน “ไม้ยืนต้น” เป็นหลักประกันแล้วจำนวน 167,302 ต้น

รวมวงเงินที่เป็นหลักประกันกว่า 185 ล้านบาท โดยมีผู้รับหลักประกัน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย กลุ่มพิโกไฟแนนซ์ พิโกพลัส โดยยอมรับว่าไม้ยืนต้นยังเป็นหลักประกันที่ผู้ประกอบการ ชุมชน เกษตรกรนำเข้ามาเป็นหลักประกันจำนวนน้อย

โดยหากเทียบกับเป็นหลักประกันชนิดอื่น ได้แก่ 1.กิจการ เช่น ที่ดิน อาคาร และรถยนต์ 2.สิทธิเรียกร้อง ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ 3.สังหาริมทรัพย์ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า 4.อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน อาคารสถานที่ 5.ทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า เป็นต้น

ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ความเข้าใจกับชุมชน ผู้ประกอบการ ได้เห็นโอกาสการนำไม้ยืนต้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

เร่งนำไม้ยืนต้นเข้าหลักประกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ร่วมกับ ธ.ก.ส. ว่า ในปี 2568 กรมมีแผนที่จะลงพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและสิทธิประโยชน์ของไม้ยืนต้น บนที่ดินของตัวเอง ให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ เกษตรกรได้ความรู้ถึงการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การขอสินเชื่อ หลังพบว่ามีเกษตรกรหลายรายให้ความสนใจ ที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน เข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัจจุบันกฎหมายเปิดกว้างให้ต้นไม้ทุกชนิดเข้าหลักประกันธุรกิจได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับเกษตรกร

“ปีที่แล้วกรมได้ลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกร เช่น จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ และปีนี้มีเป้าหมายจะลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช นครนายก เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญและโอกาสการเข้าถึงหลักประกันธุรกิจ”

ADVERTISMENT

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ “ไม้ยืนต้น” นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ มีเกษตรกร ผู้ประกอบการ 19 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศนำไม้ยืนต้นใช้เป็นหลักประกันธุรกิจกับ ธ.ก.ส. พบว่า ธ.ก.ส.รับหลักประกันไปแล้วเพียง 10 ล้านบาท หรือประมาณ 1,500 ต้น ซึ่งถือว่ายังเป็นจำนวนที่น้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนการนำไม้ยืนต้นเข้ามาเป็นหลักประกันธุรกิจที่ 0.001% เป็นเป้าหมายของกรมที่ต้องการลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรได้เห็นถึงประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง หากมีไม้ยืนต้นก็สามารถนำเข้ามาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้นำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญลักษณ์ประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว 28 จังหวัด จำนวน 167,302 ต้น วงเงินค้ำประกันรวม 185,826,768 บาท ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดนครพนม มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันธุรกิจ จำนวน 579 ต้น เช่น ต้นสัก ยาง ประดู่ป่า พฤกษ์ มะขาม ไม้สกุลมะม่วง กฤษณา เป็นต้นไม้ยืนต้น หลักประกัน

ADVERTISMENT

เช็กไม้ยืนต้นที่นำมาใช้

รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งว่า ไม้ยืนต้นสามารถขอใช้เป็นหลักประกันได้ทุกประเภท ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณารับหลักประกัน สำหรับไม้ยืนต้น 58 ชนิดตามรายชื่อของกรมป่าไม้ คือ ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด

ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร) แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม เป็นไม้ยืนต้นที่ได้รับความสนใจและนิยมเข้ามาใช้เป็นหลักประกันธุรกิจ

ทั้งนี้ หากดูไม้ยืนต้นที่สถาบันการเงินรับหลักประกันธุรกิจ เช่น ธ.ก.ส. ได้แก่ มะขาม มะกอกป่า สะเดา ต้นเต็ง รัง ประดู่บ้าน ประดู่ป่า เป็นต้น ผู้ประกอบการธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดพิโกไฟแนนซ์ พิโกพลัส ได้แก่ ยางพารา สัก ขนุน ยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลยาง เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรผู้ประกอบการสนใจที่จะนำไม้ยืนต้นเข้าหลักประกันธุรกิจ สามารถหารือกับสถาบันการเงินที่รับหลักประกันได้ ว่าต้นไม้ที่มีสามารถนำเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้หรือไม่

ธ.ก.ส.ยังไม่รับไม้ผล

นายพัฒน์พงศ์ เนียมมีศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ทาง ธ.ก.ส.ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่นำไม้ยืนต้นเข้ามาขอหลักประกันทางธุรกิจไปพอสมควร ซึ่ง ธ.ก.ส.จะมีข้อมูลเปรียบเทียบในการให้หลักประกันไม้ยืนต้นแก่เกษตรกร

โดยการพิจารณาปล่อยกู้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้กู้ว่า กู้เพื่อการลงทุน กู้เพื่อใช้งาน ซึ่งจะมีผลต่อระยะเวลาชำระหนี้ และดอกเบี้ย ที่ผ่านมาจังหวัดที่นำไม้ยืนต้นเข้ามาเป็นหลักประกันธุรกิจมาก เช่น กาญจนบุรี เพชรบุรี ร้อยเอ็ด ซึ่งประเมินไว้ที่มูลค่าสูงถึง 20,000 บาทต่อต้น และเกษตรกรจะได้รับ 10,000 บาท จากราคาประเมิน

“มูลค่าไม้ยืนต้นที่ผู้ยื่นหลักประกัน จะมีมูลค่ามาก-น้อย ขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้ที่ทาง ธ.ก.ส.รับหลักประกันอยู่ เช่น ไม้พะยูง ไม้มะค่า ส่วนไม้ผล ปัจจุบันยังไม่รับหลักประกัน เพราะเป็นไม้ที่มีการตัดแต่ง ปรับปรุง”

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่รับหลักประกันไปแล้ว ธ.ก.ส.จะมีการพิจารณาทบทวนหลักประกันทุก 3 ปี หากไม้ยืนต้นมีมูลค่าลดลงก็จะพิจารณาปรับหลักประกัน แต่หากไม้ยืนต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มหลักประกันเป็นกรณีไป

ตรวจคุณสมบัติก่อนยื่น

อย่างไรก็ดี เกษตรกรผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องรู้ ก่อนที่จะนำไม้ยืนต้นเข้ามาเป็นหลักประกันกับ ธ.ก.ส. โดยต้องมีคุณสมบัติของผู้กู้และหลักประกัน คือ 1.เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. 2.เจ้าของที่ดินและต้นไม้ต้องเป็นบุคคลเดียวกันหรือคู่สมรส 3.เป็นต้นไม้ตามประเภทต้นไม้ที่ ธ.ก.ส.กำหนดเป็นหลักประกัน 4.ต้องจำนองที่ดินแปลงที่ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน

ขณะที่ประเภทต้นไม้ที่ ธ.ก.ส.รับเป็นหลักประกัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มที่ 1 : มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าเนื้อไม้ต่ำ กลุ่มที่ 2 : อัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้ค่อนข้างสูง กลุ่มที่ 3 : อัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้สูง กลุ่มที่ 4 : อัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้สูงมาก

ส่วนการประเมินมูลค่าหลักประกัน จะให้กรรมการและสมาชิกธนาคารต้นไม้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้จาก ธ.ก.ส. อย่างน้อย 2 คน เป็นผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นรายต้น โดยต้องจดทะเบียนไม้ยืนต้นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 50% ของราคาประเมินมูลค่าต้นไม้

ทั้งนี้ ไม้ยืนต้นถือว่าเป็นหลักประกันทางธุรกิจชนิดหนึ่ง ที่เป็นการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ โดยปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนไม้ยืนต้นเข้ามาเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น