
ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและอาหารสัตว์เศรษฐกิจของไทย พร้อมขยายธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ กลุ่มกุ้งและปลากะพงในประเทศไทย ขณะที่โชว์ผลงาน 2567 ด้วยกำไรสุทธิ 535 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 87 ล้านบาท
นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
กลยุทธ์ในปี 2568 ของ TFM จะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์มุ่งสู่ปี 2573 ของกลุ่มไทยยูเนี่ยน โดยเราจะมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก ด้วยการขยายธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ กลุ่มกุ้งและปลากะพงในประเทศไทย
รวมถึงขยายฐานธุรกิจในอินโดนีเซีย ตลอดจนมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างดีที่สุด รักษามาตรฐานการผลิต บริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ ภายใต้มาตรฐานการรับรองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เราเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการรับรอง ASC Feed แห่งแรกในเอเชีย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศไทย
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจในปี 2567 เป็นช่วงเวลาที่ดีในการมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิต การจัดการพอร์ตสินค้า และการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในฐานะผู้นำที่ผลิตอาหารสัตว์น้ำและอาหารสัตว์เศรษฐกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® 2030 ของกลุ่มไทยยูเนี่ยน โดยในปี 2567 บริษัทสามารถทำยอดขายได้ 5,365 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% จากปีก่อนหน้า
“รายงานผลประกอบการปี 2567 ด้วยกำไรสุทธิ 535 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 87 ล้านบาทในปี 2566 ถึง 513 เปอร์เซ็นต์ โชว์ผลงานแกร่งสุดในรอบ 3 ปี พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.77 บาทต่อหุ้นสำหรับครึ่งปีหลัง รวมทั้งปีปันผล 1.07 บาทต่อหุ้น นับเป็นการจ่ายเงินปันผลสูงสุดตั้งแต่ TFM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งนี้เป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนการผลิต การปรับกลยุทธ์การขายสินค้า และการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทได้มีการประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการครึ่งปีหลังให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.77 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีปันผล 1.07 บาทต่อหุ้น นับเป็นการจ่ายเงินปันผลสูงที่สุดตั้งแต่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2564
สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในปี 2567 แบ่งเป็นยอดขายอาหารกุ้ง 62 เปอร์เซ็นต์ อาหารปลา 30 เปอร์เซ็นต์ อาหารสัตว์บก 7 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยอาหารกุ้งเป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตได้ดี โดยเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียที่ยอดขายปรับตัวขึ้นถึง 127 เปอร์เซ็นต์ จากการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการขยายพื้นที่การขายสินค้าให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ในขณะที่ยอดขายอาหารกุ้งในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ จากการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอาหารกุ้งในประเทศ
ในขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารปลาลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงปลากะพงที่ลดต่ำลงระหว่างปี อย่างไรก็ดี ปัจจุบันราคาปลากะพงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการเลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งขยายตลาดในกลุ่มอาหารปลาน้ำจืดเพิ่มเติม เช่น อาหารปลานิล ปลาทับทิม ปลาสลิด เป็นต้น เพื่อขยายฐานรายได้และกระจายความเสี่ยงผ่านการบริหารพอร์ตสินค้า